๑๖/๒๑ การนั่ง

พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

จะนั่งขัดสมาธิชั้นเดียว ขัดสมาธิสองชั้น หรือขัดสมาธิเพชรก็ได้ แล้วหายใจยาว ๆ เมื่อหายใจยาว ๆ ได้แล้ว สติจะดีขึ้นไวขึ้น ถ้ามีสมาธิจะไวมาก คนที่หายใจสั้นจะอารมณ์ร้อน ทำอะไรไม่ได้ดี ถ้าพระในป่าจะนั่งขัดสมาธิเพชร ไม่นั่งอย่างพวกเรา นั่งอย่างนั้นครั้งแรกปวดจนน้ำตาร่วง แต่ต่อไปจะไม่ปวด ถ้าปวดก็ให้กำหนด ถ้าเมื่อยจัดกำหนดไม่ได้จริง ๆ ก็อนุโลม ค่อย ๆ กำหนด ยกหนอ ยกหนอ (เอามือค่อย ๆ ยกขาขวา) แล้วก็วางหนอ วางหนอ

เวลานั่ง ให้ขาขวาทับขาซ้าย หลับตา อย่าดูลมหายใจที่จมูก ให้ดูที่ท้อง หายใจยาว ๆ หายใจเข้าให้ยาว ๆ แล้วหายใจออกยาว ๆ สัก ๔-๕ ครั้ง พอได้ ๔-๕ ครั้งแล้ว เริ่มตั้งสติไว้ที่ท้อง หายใจเข้าท้องจะพอง แล้วก็ว่า “พองหนอ” หายใจออกยาว ๆ ท้องจะยุบ ก็ว่า “ยุบหนอ” ถ้าหากว่าไม่ได้จังหวะ เราก็เอาพองสัก ๑ หนอสัก ๓ “พองหนอ…” ยาว ๆ ถ้าหากเราบอกพองยังไม่ทันหนอ ยุบเลย พอยุบยังไม่ทันหนอ พองขึ้นมาอีกแล้ว พองยุบ พองยุบ เร็ว ๆ ก็ไม่เกิดผลอะไร

“หนอ” ตัวนี้เป็นตัวรั้งสติ เหมือนหลอดนีออนต้องมีสตาร์ทเตอร์ ถ้าไม่มีสตาร์ทเตอร์ไฟนีออนจะไม่ติด ตัวหนอเปรียบเสมือนสตาร์ทเตอร์ หนอทำให้สติและจิตติดไฟ เกิดแสงสว่างคือตัวปัญญา จิตนี้มันเกิดดับไวมากเหมือนไฟนีออน มันเกิดดับ เกิดดับ ไวมาก เรามองไม่เห็น ถ้าเรายุบหนอ…พองหนอ…ช้า ๆ ไปตามท้อง อย่าไปดูลมหายใจ พอหายใจยาว ๆ แล้วมันจะเกิดปัญญา ทำให้เรารู้หลักเกณฑ์ วิธีการ เกิดความฉลาดในตัวเอง หายใจให้ยาวไว้ คนที่หายใจยาวจะมีสติไวมาก หายใจสั้นมันไม่ได้จังหวะ ใหม่ ๆ จะอึดอัดเพราะเรายังไม่เคยทำ พอนานเข้าจะไม่อึดอัด พองหนอยุบหนอจะคล่องแคล่วแล้วปัญญาจะเกิด

ถ้าเกิดเวทนาให้หยุดภาวนา พองหนอ ยุบหนอ หยุดก่อน เอาจิตปักตรงที่ปวด และภาวนาว่า ปวดหนอ ช้า ๆ แล้วตั้งสติไว้ “มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ต้องเรียนให้เข้าใจ พอเข้าใจแล้วความปวดหายไป เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตจะไม่ตกกังวล พอจิตไม่ตกกังวล ก็จะไม่ปวดอีก ถ้ามานั่งใหม่ปวดอีก ก็ศึกษาอีก ให้กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ไว้ คนเราแก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่ได้กำหนด แต่ถ้าไม่มีสมาธิ กำหนดอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีสติกำหนดไม่ได้ พอมีสมาธิหนักเข้าก็แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

ถ้าเสียใจก็กำหนดที่ลิ้นปี่ แล้วภาวนา “เสียใจหนอ ๆ …” จะเกิดสติบวกหนึ่งขึ้นมา นึกรู้ว่าเสียใจเรื่องสามี เรื่องลูก ปัญญาตัวนี้คือตัวที่สะสมไว้ มันจะบอกวิธีแก้ แล้วเราก็แก้ไปตามนั้น

ถ้าโกรธก็กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ไว้ สักครู่ก็จะหายโกรธ ถ้าทำงานในเวลาโกรธจะเสียหายหมด ภาวนาว่า “โกรธหนอ ๆ…” ให้ยาว ๆ พอสติบอกว่าโกรธใครแล้ว ตัวปัญญาก็จะเกิดขึ้นว่าควรจะแก้อย่างไร นี่เป็นการแก้จากการที่ได้กรรมฐาน

ใครหายใจเข้าออกยังไม่สะดวก พยายามหายใจช้า ๆ ไม่ต้องไปเบ่งท้องให้เกินไป แต่สภาวะที่เราต้องเห็นด้วยจิตมันชัด ถ้าเราสมาธิดี สติดี จิตเราก็ไม่คิดหลายเรื่อง ไม่เลือนลาง แล้วพองยุบจะชัด ถ้าเราคิดหลายอย่างหลายเรื่องรวมกันแล้ว สมาธิมันจะหมด สติจะไม่ดี พองยุบจะไม่ชัด

หายใจเข้า หายใจออกช้า ๆ ค่อย ๆ ทำไป จิตจะแกว่งไปแกว่งมา บางทีพอสมาธิดีท่านจะสังเกตได้ว่าจิตจะเริ่มออกคิดถึงเรื่องที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องหนักก่อน เรื่องเบาทีหลัง บางครั้งสมาธิดีขาดสติจะคิดซ้อน จะมีเรื่องซ้อนขึ้นมาทำให้เราขาดสติไป และทำให้เรากำหนดไม่ได้จังหวะ บางครั้งจะหนักแล้วจะวูบ บางครั้งจะเบา มีจิตอีกดวงหนึ่งจะคิดจิปาถะที่เราได้กังวลอยู่ เขาเรียกว่าเป็นธรรมชาติของจิตที่คิดตลอดเวลา เวลานั่งจึงเป็นสมาธิตลอดไม่ได้

ทำไมต้องคิด เพราะสติจะดีอย่างไรมันก็ต้องคิด แต่จะทำอย่างไรถึงจะไม่คิด ต้องเข้าขั้นสูง จะไม่คิดอะไร มันจะดิ่ง นิ่ง ถ้าเรายังต่ำหรือเรายังอยู่ในระหว่างจิตซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ มันจะคิดอะไรต่าง ๆ ไปมา

ถ้าหากว่ามันสับสนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในขณะกำหนด ให้กำหนดว่า “รู้หนอ รู้หนอ” ให้ตั้งสติให้ได้ก่อนที่ลิ้นปี่ เมื่อตั้งสติได้แล้วก็กำหนดต่อ ไม่อย่างนั้นจะสับสนไปตลอด จะไม่เกิดอะไร จะไม่เกิดสภาวธรรม เราจึงต้องทำให้ติดต่อกันไป สภาวะตัวนี้เกิดจากญาณ เป็นขั้นตอน ต้องให้กำหนดอย่างนั้น ๆ ที่เราบอกว่าให้จิตอยู่กับที่นั้น เป็นไปได้ยาก เพราะจิตจะคิดโน่น คิดนี่จิปาถะ แต่จะคิดอะไรก็ตามให้เอาสติใส่เข้าไป โดยการกำหนดว่า “คิดหนอ” ที่ลิ้นปี่ ไม่ใช่เอาแต่พองหนอ ยุบหนอ เวลามีอะไรก็ไม่คิด ไม่กำหนดไม่ได้

การกำหนดจิตนี้เพื่อต้องการให้เราไม่ลืมไม่หลง ถ้าไม่ลืมไม่หลงแสดงว่ามีสติดีแล้ว อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล เมื่อไม่เป็นสมาธิก็คิดโน่นคิดนี่ ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าอะไรเกิดขึ้นให้เอาสติตามเลย ก็คือ การคิดหนอ การเดินจงกรมก็เหมือนกับการนั่ง เราก็เอาสติตาม แต่เราจะให้สมาธิมันดิ่งอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเข้าขั้นสูง เข้าขั้นมีสภาวะเกิดขึ้น จิตก็จะดิ่งลงไป มีแต่สมาธิ ซึ่งก็หมายความว่าดิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่มีนิมิตเกิดขึ้น แสดงว่ามีสมาธิมากไปแต่ขาดสติ วิธีทำก็คือ ถอยสมาธิออกให้ใส่สติเข้าไป ภาวนา “รู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ…” พอรู้เหตุการณ์นั้นแล้ว สมาธิก็จะถอยจะจางออกไป พอจางออกไปก็ใส่สติเข้าไป คือการคิดหนอ

การทำเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าไม่กำหนดอะไรเลย เราจะไม่รู้อะไรเลย ค่อย ๆ รู้ไป จิตนี้มันละเอียดอ่อนมาก จิตมันไม่อยู่กับที่ จะให้มันดิ่งไปสัก ๕ นาที ก็เป็นไปได้ยาก ก็อย่าเข้าใจผิดคิดว่าไม่ได้ผล ที่จริงได้ผล เป็นการสะสมทีละเล็กทีละน้อย แล้วเราก็จะกำหนดจุดตั้งสติไว้ ตรงนี้สำคัญมากต้องให้ละเอียด แล้วเราจะรู้จริง ว่าอะไรมันเกิดก่อนเกิดหลัง เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไหม จะดับไปตรงไหน

เดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ให้ช้า ๆ หน่อย ถ้าสติดี สมาธิดี จะรู้เลยว่าจิตที่กำหนดนี่มันดับตรงไหน ซ้ายย่างหนอดับตรงไหน ขวาย่างหนอ จิตมันจะดับไหม ดับอย่างไร เกิด ๆ ดับ ๆ ไวมาก ทำให้เราไม่รู้ ถ้าเราละเอียดก็จะรู้และจับจิตได้ บางทีสมาธิดีมันจะวูบ แต่จับไม่ได้ว่ามันวูบตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าคนไหนเกิดขึ้นอย่างนี้ให้กำหนด รู้หนอ ๆ… พอรู้สติดีเข้าขั้นแล้ว จะจับได้เลยว่าวูบตอนไหน และพองหนอ ยุบหนอ มีกี่ระยะ มีขั้นตอนไหม เป็นระยะเดียวหรือกี่ระยะ ถ้าละเอียดอ่อน สมาธิดี ก็จะจับได้ว่ามีกี่ระยะ ถ้าเราฝึกยังหยาบอยู่ก็จะจับไม่ได้ว่าจะได้ระยะตรงไหน

วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ ต้องให้ได้จังหวะในปัจจุบัน เอาปัจจุบันเป็นหลัก หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๓-๔ ครั้ง แล้วเราค่อยกำหนด พองหนอ…ยุบหนอ… ให้ยาว ๆ ถ้าเราทำได้มันจะคล่องไปหมด จะทำอะไรก็คล่องว่องไวขึ้น การกำหนดอิริยาบถต่าง ๆ และกำหนดรู้สิ่งที่มากระทบทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น ถ้าเรากำหนดได้จะช่วยตัวเองได้มากไม่ต้องไปพึ่งใคร และเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

การปฏิบัติธรรมให้ทำติดต่อกัน ท่านจะเห็นทุกข์ในตัวเอง ทุกข์กาย ทุกข์ใจ กายไม่มีสุข จิตก็ไม่มีสุข ความชราเข้ามา แล้วเราก็จะหมดสภาพไปในที่สุด ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรเหลือ ขอให้ท่านทำด้วยความตั้งใจ จะทำอะไรก็ขอให้ทำด้วยความตั้งใจ อย่าท้อถอย การปฏิบัติธรรมของเราก็จะได้มรรคได้ผล

ในตอนแรก ๆ ก็จะคิดว่าไม่ได้ผล เพราะมันปวดเมื่อย จิตใจก็ไม่เป็นสุข มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ท่านก็ต้องสู้ กำหนดเวทนาที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่าปล่อยมันให้เลยผ่านไป เราจะบังคับให้จิตอยู่กับที่นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อจิตมันออกไปเราต้องเอาสติตามไปให้ได้ สติตามก็คือกำหนดรู้หนอที่

เวลาตาเห็นรูป ให้กำหนดว่า เห็นหนอฯ ตั้งสติไว้ที่ตา

เวลาหูได้ยินเสียง ให้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ตั้งสติไว้ที่หู

เวลาจมูกได้กลิ่น ให้กำหนดว่า กลิ่นหนอ กลิ่นหนอ ตั้งสติไว้ที่จมูก

เวลาลิ้นได้รส ให้กำหนดว่า รสหนอ รสหนอ ตั้งสติไว้ที่ลิ้น

เวลากายถูกเย็น ร้อน อ่อนแข็ง ให้กำหนดว่า ถูกหนอ ถูกหนอ ให้ตั้งสติไว้ที่ตรง ถูก

จาก แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

โดย พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)

แต่งเมื่อปี ๒๕๑๕ ขณะดำรงสมณศักดิ์ พระครูภาวนาวิสุทธิ์


คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›