ก๒/๒๔ ข้อแนะนำ ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐาน

ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐาน
ณ สำนักปฏิบัติฝ่ายคฤหัสถ์
วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

 

    ผู้ที่มาสมัครเข้ามาปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักปฏิบัติฝ่ายคฤหัสถ์ ควรทำความเข้าใจในระเบียบปฏิบัติดังต่อไปนี้

    ๑.ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจะต้องแจ้งความจำนงต่ออาจารย์ผู้ปกครอง ซึ่งคณะอาจารย์ผู้ปกครองประกอบด้วย

๑.๑ อุบาสิกาสุ่ม ทองยิ่ง (แม่ใหญ่) ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่

๑.๒อุบาสิกาฉ่ำชื่น แสงฉาย ทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับปฏิสันถาร รับลงทะเบียนและดูแลอำนวยความสะดวกโดยทั่วไป

๑.๓ อุบาสิกาสมคิด มาลีหอม หัวหน้าแม่ชีไทยวัดอัมพวัน ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการปฏิบัติกรรมฐานแก่ผู้มาใหม่

    ๒.เขียนใบสมัครให้ชัดเจน อ่านง่ายและถูกต้องตามความเป็นจริง

    ๓.เข้าที่พักเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เป็นชุดปฏิบัติธรรมสีขาว แบบสุภาพเรียบร้อยไม่มีลวดลายหรือเครื่องประดับ

    ๔.เตรียมดอกไม้ธูปเทียน เพื่อทำพิธีจอศีลแปดจากพระภิกษุที่กุฏิเจ้าอาวาส โดยอาจารย์ผู้ปกครองเป็นผู้นำไปเวลา ๑๘.๐๐ น.

    ๕.การปฏิบัติกรรมฐาน แบ่งออกเป็น ๔ ช่วงในแต่ละวันดังนี้
ช่วงแรก ๔.๐๐-๖.๐๐ น.

ช่วงที่สอง ๘.๐๐-๑๑.๐๐ น.

ช่วงที่สาม ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ช่วงที่สี่ ๑๙.๐๐-๒๑.๓๐ น.

    ๖.สถานที่ปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติต้องมาพพร้อมกันที่ศาลาปฏิบัตของสำนักตามเวลาที่กำหนดโดยใช้ศาลาเป็นที่นั่งกรรมฐานและบริเวณนอกศาลาเป็นที่เดินจงกรม

    ๗.สำหรับผู้ที่ปฏิบัติดีแล้วบางราย ทางสำนักอาจอนุญาตให้ปฏิบัติเอง ณ ห้องพักตามแต่กรณี ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของอาจารย์ผู้ปกครอง

    ๘.ขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมาพร้อมกันตามเวลา ในการปฏิบัติชาวงแรก ณ ศาลาปฏิบัติ หัวหน้าจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย นำสวดมนต์ กราบพระพุทธรูปและพระพรหมแล้ว จึงเริ่มปฏิบัติธรรม โดยการเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบถเข้ามานั่งกรรมฐาน ๓๐ นาที สลับกันไป จนถึงเวลาพัก สำหรับเวลา ๓๐ นาที ที่กำหนดให้นี้ ผู้ปฏิบัติอาจปรับให้มากหรือน้อยกว่า ๓๐ นาที ตามความเหมาะสมของสภาวะอารมณ์

    ๙.ก่อนถึงเวลาพักทุกช่วง ผู้ปฏิบัติควรปฏิบัติธรรมอยู่ในอิริยาบถนั่งกรรมฐาน ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติแต่ละช่วงจะได้แผ่เมตตาต่อไปได้โดยไม่เสียสมาธิจิต

    ๑๐.เมื่อแผ่เมตตา (สัพเพสัตตา…) เสร็จแล้ว นั่งพับเพียบประนมมืออุทิศบุญในการปฏิบัติธรรมแก่บิดามารดา ญาติพี่น้องเทวดาและเปรต (อิทังโน มาตาปิตุนัง โหตุ…) จากนั้นลุกขึ้นนั่งคุกเข่าสวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัย (อรหัง สัมมา สัมพุทโธ ภควา…) กราพระพุทธรูปและพระพรหม
ขั้นตอนในการปฏิบัติจะเป็นเช่นเดียวกันในทุกช่วง เว้นแต่การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ในช่วงที่ ๒-๓-๔ ไม่มี เพราะได้บูชาแล้วในช่วงแรก

    ๑๑.การให้ความรู้ สำหรับผู้มาใหม่ อาจารย์หรือหัวหน้าผู้ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ให้คำแนะนำการกำหนดลมหายใจ และคำภาวนาในการปฏิบัติเบื้องต้น ส่วนการทดสอบอารมณ์ตลอดจนความรู้ที่ละเอียดขึ้น อาจารย์ใหญ่ (แม่ใหญ่) จะเป็นผู้ให้ความรู้หลังจากปฏิบัติธรรมช่วงแรก เสร็จเวลาประมาณ ๖.๐๐ น. ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าใจ มีข้อสงสัยใดๆ อาจใช้ช่วงเวลานี้ สอบถามขอความรู้

    ๑๒.การรับประทานอาหาร มี ๒ เวลา และดื่มน้ำปานะ ๑ เวลา ดังนี้
๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า
๑๑.๐๕ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๗.๐๕ น. ดื่มน้ำปานะ

    ๑๓.การรับประทานอาหารและดื่มน้ำปานะทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมารับประทานพร้อมกันที่อาคารภาวนา ๑ ตรงตามเวลาที่กำหนด

    ๑๔.เมื่อตักอาหารใส่ภาชนะแล้ว ให้เข้านั่งประจำที่ของแต่ละคน รอจนพร้อมเพรียงกันดีแล้ว หัวหน้าจะกล่าวนำขออนุญาตรับประทานอาหาร

    ๑๕.ขณะนั่งรอและรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรคุยกัน หรือแสดงอาการใดๆ ที่ไม่สำรวม

    ๑๖.เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้นั่งรออยู่ที่เดิม จนทุกคนรับประทานอาหารเสร็จให้ประนมมือ หัวหน้าจะพรผู้บริจาคอาหาร (สัพพี…) ผู้ปฏิบัติธรรมสวดรับโดยพร้อมเพรียงกัน

    ๑๗.เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหาร ให้ผู้ปฏิบัติธธรมช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ ทำความสะอาดภาชนะ จัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้เรียบร้อย

    ๑๘.ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรพูดคุยกัน หรือซักถามกันด้วยเรื่องทางโลกย์ เพราะจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน หากมีปัญหาหรือต้องการความรู้ในการปฏิบัติให้เรียนถามจากอาจารย์ผู้สอนโดยตรง ไม่ควรถามหรือวิพากษ์วิจารณ์กันเอง เพราะอาจจะทำให้เข้าใจผิดและหลงผิดในการปฏิบัติได้

    ๑๙.เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมพบปะกัน ควรแสดงคารวธรรมต่อกันด้วยการไหว้ หรือการยิ้ม หรืออาการอื่นๆ ซึ่งเป็นโดยสำรวมหรือกล่าวทักทายตามสมควร

    ๒๐.การออกนอกบริเวณสำนักไม่ควรกระทำ หากมีกิจจำเป็นให้ขออนุญาตอาจารย์ผู้ปกครอง

    ๒๑.การออกนอกบริเวณสำนักโดยการพิธีทุกครั้ง อาจารย์ผู้ปกครองจะเป็นผู้นำทั้งไปและกลับ ให้เดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งตามลำดับอาวุโส ด้วยอาการสำรวม

    ๒๒.เมื่อถึงบริเวณพิธี ให้คอยสังเกตสัญญาณการนั่ง การกราบจากอาจารย์ผู้นำ ทั้งนี้เพื่อความพร้อมเพรียง เป็นระเบียบและเจริญตาผู้พบเห็น

    ๒๓.การพักอาศัยในห้องที่พัก ควรดูแลรักษาความสะอาดที่พัก เครื่องนอน ตลอดจนความเป็นระเบียบต่างๆ ภายในห้องพักให้เรียบร้อย

    ๒๔.ไม่ควรเปิดน้ำไฟฟ้าและพัดลมทิ้งไว้ เมื่อไม่อยู่ในห้องพัก

    ๒๕.เวลาว่างตอนเช้า ระหว่างเวลา ๖.๐๐-๖.๔๕ น. ผู้ปฏิธรรมอาจใช้เวลาว่างทำความสะอาดกวาดลานสำนักและบริเวณที่พัก เพื่อความสะอาดของสถานที่และเจริญสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติ

    ๒๖.ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ในช่วงบ่ายให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าปฏิบัติในอุโบสถ โดยมาพร้อมกัน ณ กุฏิอาจารย์ใหญ่ เวลา ๑๓.๓๐ น. อาจารย์ใหญ่จะเป็นผู้นำไป และเริ่มปฏิบัติที่พระอุโบสถ เวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น. หลังจากนั้นหลวงพ่อพระครูภาวนาวิสุทธิ์จะประกอบพิธีให้กรรมฐานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มาใหม่และแสงธรรมกรรมฐาน

    ช่วงเวลากลางคืนผู้ปฏิบัติธรรมเข้าปฏิบัติในพระอุโบสถเหมือนช่วงบ่ายโดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๙.๓๐-๒๑.๓๐ น. ในการปฏิบัติกลางคืนที่พระอุโบสถนี้มีระเบียบกำหนดให้ผู้ปฏิบัติทุกคนจะต้องเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง และนั่งกรรมฐาน ๑ ชั่วโมง โดยพร้อมเพรียงกัน

    ๒๗.การเข้านั่งในพระอุโบสถ ให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั่งหันหน้าไปทางพระประธาน โดยสังเกตการนั่งให้เป็นแนวขนานไปกับพระสงฆ์

    ๒๘.การลา เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้ปฏิบัติครบตามกำหนดที่ได้แจ้งความจำนงไว้แล้วนั้น ให้เตรียมดอกไม้ ธูปเทียน หรือเครื่องสังฆทานตามกำลัง เพื่อทำพิธีลาศีลต่อพระภิกษุสงฆ์ ณ กุฏิเจ้าอาวาส โดยอาจารย์ผู้ปกครองเป็นผู้นำไป
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องลากลับก่อนกำหนดนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้ปกครองทราบสาเหตุหรือความจำเป็นไม่ควรหนีกลับไปโดยพลการ เพราะจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฏิบัติเอง

    ๒๙.ผู้ปฏิธรรมโปรดสำนึกตระหนักเสมอว่า ท่านมาปฏิบัติธรรมด้วยจิตศรัทธา เพื่อเป็นบุญกุศลแก่ชีวิต มิได้มาเพื่อความสนุกหรือมาพักผ่อน หรือการแก้บนที่ขาดปัญญา ดังนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน จงมีความอดทน มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความเพียร ประหยัดกาย วาจา ใจ มุ่งปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์แก่ตนให้ได้ ซึ่งท่านย่อมประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวท่านเอง

    ๓๐.ข้อแนะนำนี้ เป็นคู่มือให้รายละเอียดแนวทางการปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบของสำนักปฏิธรรมแห่งนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะได้เข้าใจ สบายใจในการอยู่อาศัยและปฏิบัติธรรมย่อมประหยัดการพูด โอกาสที่ท่านจะถามข้อระเบียบ หรือโอกาสที่จะมีผู้มาอธิบายแนะนำแก่ท่านมีน้อย คู่มือนี้จะช่วยท่านได้เป็นอย่างดี

มาถึงวัดเห็นดินและต้นไม้
ยังมิใช่เห็นวัดดังคำขาน
คนเห็นวัดต้องเห็นธรรมสัมมาญาณ
เพ่งสังขารรู้ชัดเห็นวัดจริง

เราพูดอยู่เสมอถึงคำว่า
สติ ปัญญา
เราใช้ปัญญาอยู่เสมอ ก็จริง
แต่สตินั้น แท้จริงแล้ว
เรานำออกใช้น้อยนัก
ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต
มีคุณค่าอย่างเหลือที่
จะประมาณได้

พระราชสุทธิญาณมงคล

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›