๑๖/๑๙ การเดินจงกรมและอานิสงส์

พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

    ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา สำรวมจิต ให้สติจับอยู่ที่กลางกระหม่อม กำหนดว่า ยืนหนอ… ช้า ๆ ๕ ครั้ง โดยเริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่า ยืน… สำรวมจิตเอาสติตาม วาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอ… จากสะดือลงไปปลายเท้า นับเป็น ๑ ครั้ง จากนั้นกำหนดกลับขึ้น คำว่ายืน… กำหนดจากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอ…กำหนดจากสะดือไปกลางกระหม่อม นับเป็น ๒ ครั้ง กำหนดกลับไป, กลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สำรวมจิตอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย แล้วลืมตาขึ้น ค่อย ๆ ก้มหน้ามองดูปลายเท้า ให้สติจับอยู่ที่เท้าเพื่อเตรียมเดินจงกรมต่อไป

การเดิน ให้กำหนดรู้เฉพาะอิริยาบถเดินอย่างเดียว ให้กำหนดว่า ขวา… ย่าง… หนอ…ซ้าย…ย่าง…หนอ… ก่อนจะเดินให้สำรวมจิตอยู่ที่เท้าขวา ตั้งสติปักลงไปแล้วกำหนดในใจ คำว่าขวา… ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว สติระลึกรู้พร้อมกับส้นเท้าขวาที่ยกขึ้น กำหนด ย่าง… ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้า ๆ โดยให้สติระลึกรู้พร้อมกับเท้าขวาที่เคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อก้าวเท้าเสร็จ หยุดค้างไว้โดยเท้ายังไม่เหยียบพื้น พอกำหนดคำว่า หนอ… ให้ค่อย ๆ วางเท้าลงให้ถึงพื้นโดยปลายเท้าและส้นเท้าลงพร้อมกัน สติระลึกรู้พร้อมกับเท้าที่ลงสัมผัสพื้น จากนั้นสำรวมจิตไว้ที่เท้าซ้าย ตั้งสติปักลงไป แล้วกำหนดว่า ซ้าย…ย่าง…หนอ…สลับกันเช่นนี้เรื่อย ๆ ไป การเดินให้เดินช้า ๆ ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมาก

เพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด ยืน…หนอ… ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว จากนั้นให้ลืมตา ก้มหน้าลงมองดูปลายเท้า เพื่อทำท่ากลับต่อไป
ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับ…หนอ… ๔ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๔๕ องศา พร้อมกับกำหนดว่า กลับ… โดยให้สติอยู่ที่ส้นเท้าขวา เมื่อได้ ๔๕ องศาแล้ว ก็ค่อย ๆ วางปลายเท้าขวาลง พร้อมกับกำหนดว่า หนอ… ครั้งที่ ๒ เคลื่อนเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวาพร้อมกับกำหนดว่า กลับ… โดยให้สติอยู่ที่เท้าซ้ายที่เคลื่อนไหว แล้วค่อย ๆ วางเท้าซ้ายลง พร้อมกับกำหนดว่า หนอ… ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ เมื่อทำครบ ๔ ครั้ง จะได้ ๙๐ องศา ซึ่งอยู่ในท่ากลับหลังหันพอดี

จากนั้นให้กำหนด ยืน…หนอ… ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง จากนั้นลืมตา ก้มหน้ามองดูปลายเท้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ

การเดินจงกรม มีอานิสงส์ ๕ ประการ คือ

๑. ทำให้อดทนต่อการเดินทางไกล

๒. ทำให้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร

๓. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายอย่างน่าอัศจรรย์

๔. ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยง่ายไม่เป็นพิษเป็นภัย

๕. สมาธิในการเดินจงกรมตั้งอยู่นานมากกว่าการนั่ง (จึงต้องเดินจงกรมก่อนเสมอ)

การเดินจงกรมที่บางคนไปสอนเดินก้าวแบบต่อเท้านั้นผิด ที่ถูกต้องก็คือใครเคยเดิน
อย่างไรก็เดินไปอย่างนั้น เดินกันอย่างธรรมดา เคยเดินอย่างไรก็เดินอย่างนั้น แล้วเอาสติใส่เข้าไปเท่านั้น เจริญสติปัฎฐานสี่ให้ครบ

คนเรานั้นมีอิริยาบถ ๔ ประการ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เดินจงกรมก็เหมือนเดินธรรมดา แต่เดินให้ช้าลงไป ขวา…ย่าง…หนอ ซ้าย…ย่าง…หนอ เท่านั้นเอง การที่ทำอะไรช้า ๆ จะทำให้มีสติคิดรอบคอบ ถ้าทำอะไรเร็วจะลืมง่าย ลืมกระเป๋า ลืมมือถือ ลืมอะไรต่อมิอะไร เพราะทำอะไรเร็วไป ตรงนี้สำคัญมาก ต้องทำความเข้าใจ

การเดิน เดินให้มีสติ ต้องยืนก่อน แล้วถึงมาเดิน มานั่ง มานอน เวลาเดินต้องเอามือไพล่หลัง ไม่ให้เอามือจับกันไว้ข้างหน้า แล้วยืนหนอ ๕ ครั้ง ไม่ใช่ ๓ ครั้ง ๕ ครั้งก็คือตจปัญจกรรมฐาน

ทบทวนชีวิตได้ ๕ ครั้งเมื่อไร จะรู้ว่ากฎแห่งกรรมมีอะไร และจะเห็นหนอด้วยปัญญา (ภาวนามยปัญญา) เห็นหนอ ๕ ครั้ง พอดูศีรษะลงปลายเท้า ปลายเท้าถึงศีรษะ อัสสาสะ ปัสสาสะ มันจะย้อนมาบอกเรา เช่นบอกว่า คนนี้นิสัยไม่ดี อย่าคบ

การเดินเริ่มด้วย

ขวา…ย่าง…หนอ…

ซ้าย…(หยุด) ย่าง…หนอ ให้จังหวะหยุดหน่อย เตือนสติให้หยุด

กลับหนอ

ยืนหนอ อีก ๕ ครั้ง

ถ้าคนไม่เข้าใจให้หยุดที่สะดือ คนเข้าใจแล้ว จะคล่องไปเอง ไม่ต้องดูลมหายใจ

ขณะที่เดินจงกรมเกิดเวทนาในท่าไหนให้หยุดที่ท่านั้น ไม่ต้องชิดเท้า ตั้งตัวให้ตรง แล้วกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” ตรงที่ปวด เมื่อได้สติดีแล้วก็เดินต่อไป ไม่ใช่เดินเสร็จแล้วไปกำหนดปวด ให้เอาปัจจุบันเลย

เมื่อก่อนเดินจงกรมโดยเอามือมาไว้ข้างหน้า ตอนหลังต้องเปลี่ยนเพราะไปได้ความรู้มาจากหมอ คือมีคนเป็นโรคปอดอยู่ ๒ คน เดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอไป หนักเข้าเกิดแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เมื่อไปถามหมอ หมอก็ถามอาตมาว่า “หลวงพ่อ เวลาเขาเดินจงกรม เขาทำอย่างไร” อาตมาก็ทำให้หมอดู โดยเอามือมาไว้ที่หน้าท้อง ถ้าเดินท่านี้ ๓๐ นาทีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้า ๑ ชั่วโมงมันจะรัด จะแน่น จะปวดหัวไหล่ หายใจไม่ออก เลยต้องเปลี่ยนมาเดินเอามือไพล่หลัง โดยเอามือซ้ายจับข้อมือขวาไว้ แล้วเอาไว้ตรงกระเบนเหน็บ คนที่เป็นโรคไตหายได้ และหลังจะไม่โก่ง ถ้าเดิน ๓๐ นาทีจะไม่รู้ ถ้าเดินถึง ๒ ชั่วโมงจะรู้ มันจะปวดตรงกระเบนเหน็บ แทบจะร้องไห้ พอกำหนดก็จะหาย พอหายแล้วโรคตรงนี้หายได้ เดินเอามือไพล่หลังจะไม่เป็นโรคปอด อัมพฤกษ์อัมพาตก็จะไม่เป็น

ถ้าเป็นโรคหืดแล้วเดินจงกรมโดยเอามือมาไว้ข้างหน้าไม่ถึงชั่วโมงจะหอบ แต่เอามือมาไพล่หลังแล้วหายใจยาว ๆ โรคหืดจะหายได้ ท่านพระครูสังฆรักษ์หรือพระธเนศ มาจากเมืองจีน เป็นโรคหืด มาหายที่วัดนี้ ถ้าเดินแล้ว หายใจยาว ๆ ช้า ๆ เรื่อย ๆ ไป จะเกิดทั้งปัญญาและหายจากโรคหืดหอบ

การเดินจงกรม บางคนก้าวสั้น บางคนก้าวยาว ให้ก้าวเท่าที่เราก้าวได้ ก้าวได้แค่ไหนเอาแค่นั้น อย่าก้าวสั้น หรือก้าวยาวเกินไป แต่ให้ช้าลงไป “ช้าเพื่อไว เสียเพื่อได้” ถ้าสติมั่นคงแล้วก้าวช้า ๆ จะไม่ล้ม ยืนขาเดียวได้ เวลาก้าวเท้าขวา ย่าง…ไป น้ำหนักจะอยู่ที่เท้าซ้ายถ้าถ่วงมากจะเซ ถ้าก้าวเท้าซ้าย ย่าง… ขวาจะรับน้ำหนัก ถ้ารับไม่ได้ก็จะล้ม เมื่อเราเดินไปเรื่อย ๆ มันจะถ่วงน้ำหนักทั้งซ้ายทั้งขวาก็จะไม่ล้ม ทำครั้งแรก ๆ ก็จะมีเซบ้าง

เวลาเรามีประสบการณ์อะไรให้รีบกำหนด ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราไปโกรธกับใคร ก็ให้กำหนดโกรธ ไม่ใช่พอโมโหใครก็ทำร้ายเขาก่อนแล้วถึงมากำหนดโกรธทีหลังนั้นไม่ถูกต้อง

เวลาเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ให้ดูที่เท้า อย่าหลับตา เดี๋ยวจะไม่รู้ว่า รูป นาม ขันธ์ห้า เป็นอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร จิตนี้มีเกิดดับ เวลาเราก้าวขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ รู้หรือไม่ว่าขวาซ้ายเป็นอันเดียวกัน พอจิตที่ขวาย่างหนอดับลงไป จิตดวงใหม่คือซ้ายก็จะเกิดขึ้นมา แทนที่ขวา ที่เราเห็นนี้เป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรมคือจิตที่เรารู้ว่าย่างไปในปัจจุบันอย่างไร แล้วจะรู้ต่อไปถึงจิตเห็นหนอ รูปกับนามมันคนละอันกัน หูกับเสียงก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน หูเป็นเครื่องรับ “เป็นรูปธรรม” ตัวนามที่รับเข้าไปชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี “เป็นนามธรรม” ทำให้เรารู้ในภายใน รูป นาม ขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ โลภะมูลจิต ๘ โทสะมูลจิต ๒ โมหะมูลจิต ๒ สังขาริกัง อสังขาริกัง บอกอย่างนี้ไว้ชัดเจน กุศล ๔ อกุศล ๔ คือโลภะมูลจิต ๘ อยากได้ของเขา เสียก็ไม่เอาด้วย โลภอยากได้ แต่โลภมีอย่างหนึ่ง คือ โลภอยากได้แต่ทำงานสุจริตเอาได้มาด้วยความถูกต้อง แต่ไม่จัดเป็นโลภะที่เสียหายเพราะกิเลส มันจัดเป็นโลภะอยากได้ บางคนว่าอยากนั่งหนอ อยากนั่งหนอ มันก็เป็นกิเลส

จาก แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

โดย พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)

แต่งเมื่อปี ๒๕๑๕ ขณะดำรงสมณศักดิ์ พระครูภาวนาวิสุทธิ์

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›