๒๐/๓๓ (ฅน)อย่างนี้ก็มี(ด้วย)

จำลอง โตน้อย

หลีกเกวียนให้หลีกห้า ศอกหมาย
ม้าหลีกสิบศอกกราย อย่าใกล้
ช้างสี่สิบศอกคลาย คลาคลาด
เห็นทุรชนหลีกให้ ห่างพ้นลับตา
โคลงโลกนิติ (บทที่ ๑๙๖)

    ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการบำนาญ เกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ตลอดอายุราชการไม่เคยสอบสวนและไม่เคยลงโทษทางวินัย ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา สรรเสริญความยั่งยืนในราชการ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริภรณ์ช้างเผือกเป็นเกียรติสูงสุดรวมอายุราชการ ๓๙ ปี

    ระหว่างรับราชการในฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติงานในหน้าที่เต็มความรู้ความสามารถ ไม่เคยกระทำการใดๆ ให้เป็นที่หนักใจของผู้บังคับบัญชา ในฐานะเป็นผู้นำและหัวหน้างานก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานเป็นดียิ่งปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และถือคติว่า “เงินที่บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้นที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีและเฉลียวฉลาดได้”

    หลังจากเกษียณอายุราชการ เห็นว่ายังมีสุขภาพร่างการแข็งแรงดีอยู่ ประกอบกับความรู้และประสบการณ์ในชีวิตราชการ ก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อยู่ ดีกว่าที่จะปล่อยให้ชีวิตล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงอาสาเข้าทำงานต่างๆดังนี้ คือ
๑. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ การประถมศึกษาจังหวัด
๒. เป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
๓. เป็นกรรมาธิการวิสามัญสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐
๔. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นฐาน โรงเรียนอินทร์บุรี
๕. เป็นประธานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนชุมชนวัดพระนอน

    ข้าพเจ้าได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนามาตั้งแต่จำความได้ รู้เห็นและเคยชินต่อการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา โดยตามบิดามารดาไปทำบุญตักบาตรที่วัด เข้าไปเป็นเด็กวัดปฏิบัติพระ จนกระทั้งได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา และได้รับความสงบร่มเย็นตามสมควรแก่อัตภาพ

    หลังจากเกษียณอายุราชการ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องกลับไปอยู่ที่บ้านเดิม คือบ้านเกิดที่มารดายกให้ เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านเดิม ข้าพเจ้าแสดงความเป็นมิตรกับทุกครอบครัวและทุกคนที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมีสัมมาคารวะ โดยเฉพาะผู้มีอาวุโส แต่ในที่สุดข้าพเจ้าต้องประสบกับปัญหาในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนและไม่เคยคิดเลยว่าจะมีปัญหา(คน)ชนิดนี้อยู่ในโลกนี้ ข้าพเจ้าขออภัยที่จะต้องเรียกเขาว่า “สุดยอดอันธพาล” เขาพยายามข่มเหงรังแก กลั่นแกล้ง ดูหมิ่นใส่ร้ายข้าพเจ้าและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นรายวันด้วยซ้ำ ไม่ทราบว่าเขาสรรหาวิธีการต่างๆเหล่านั้นมาจากไหน

    พฤติกรรมต่างๆที่สุดยอดอันธพาลกระทำต่อข้าพเจ้าและครอบครัวมีมากมายหลายประการ เช่น พูดว่าทางสาธารณะที่ใช้เข้าออกกันอยู่หลายบ้านหลายครอบครัวนั้นเป็นที่ดินของเขา เขาจะปิดเสียเมื่อไรก็ได้ ครั้งหนึ่งเขาหักกิ่งไม้ประดับที่เขาปลูกไว้ในเขตทาง (เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าทางสาธารณะนั้นเป็นที่ดินของเขา) นำไปแจ้งความยังสถานีตำรวจว่า ข้าพเจ้าตัดต้นไม้ทำลายทรัพย์

    บ่อยครั้งที่ฝ่ายสามีเดินเลาะเขตรั้วบ้านของข้าพเจ้าส่งเสียงกระแอมกระไอชวนทะเลาะ ทางฝ่ายภรรยาก็ส่งเสียงจามอย่างมีหางเสียงท้าทายเยาะเย้ยเป็นประจำ บางครั้งนำขยะมาสุมไฟเพื่อให้ควันไฟเข้ามารบกวนในบ้านของข้าพเจ้า และพูดว่าเขาสุมไฟในบ้านของเขาใครจะทำไม

    หลายๆครั้งที่นำขยะที่มีผ้าอนามัยที่ใช้แล้วรวมอยู่ด้วย มาทิ้งไว้เกลื่อนกลาดที่ปากตรอกทางเข้าออกบ้านของข้าพเจ้า บางทีก็นำหัวปลาเน่าใส่กะลามะพร้าวมาวางไว้ที่ปากตรอกในลักษณะเดียวกัน เฉยเมยปล่อยให้ต้นมะขามทอดกิ่งปกคลุมหลังคาบ้านของข้าพเจ้า ใบและฝักมะขามร่วงหล่นลงบนหลังคาในเวลาที่ลมพัดแรง ฝักมะขามเกราะร่วงลงกระทบหลังคาดังเหมือนเสียงจุดประทัด

    เลี้ยงสุนัขไว้ ๓ – ๔ ตัว ปล่อยให้สุนัขเข้ามาถ่ายบ้าง คุ้ยดินในแปลงต้นไม้บ้าง คาบรองเท้า ผ้าเช็ดเท้า และสิ่งอื่นๆ ก่อความรำคาญและความเสียหายเป็นประจำ

    ครั้งหนึ่งที่ค่อนข้างจะรุนแรงและกักขฬะหยาบคายฝ่ายสามีเงื้อง่าจอบวิ่งตรงมาหมายจะทำร้ายร่างกายข้าพเจ้าซึ่งรดน้ำต้นไม้อยู่ พร้อมกับกล่าววาจาที่ไม่ดีสำทับด้วย

    ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ด้วยอาการอันสงบ และไม่คิดว่าจะต่อสู้หรือป้องกันตัวอย่างไรทั้งสิ้น แต่แล้วเขาก็ลดจอบลงจากการเงือดเงื้อเมื่อเห็นอาการเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็บอกกับเขาว่า

    “เชิญเถอะครับ เชิญ(ทำอะไรก็ได้)ตามสบาย ผมไม่ต่อสู้อะไรคุณหรอก ปืนผมก็ไม่มี อาวุธอะไรผมก็ไม่มีทั้งนั้น …ชั่วชีวิตนี้ผมไม่เคยใช้อาวุธทำร้ายใคร แม้แต่สัตว์ ผมมีแต่ปากกาเท่านั้นเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีวิตผม” และแล้วเขาก็เดินถอยห่างออกไป

    พฤติกรรมของเขาทั้งสามีและภรรยาที่ก่อกวนความสงบสุขในบ้านของข้าพเจ้ายังมีอีกมากมายสุดจะพรรณนาและกระทำซ้ำๆหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้แสดงอาการโต้ตอบโกรธเคือง หรืออาฆาตจองเวรใดๆเพียงแต่ใช้ความอดทนอดกลั้นและข่มใจไว้ โดยยึดมั่นในพุทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาที่ว่า “ธมฺมจารี สุขํ เสติ” ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

    แต่เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังมีกิเลสาสวะอยู่ในขันธสันดานอีกมาก การปฏิบัติธรรมกรรมฐานยังมืดมน นั่งสมาธิเดินจงกรมก็ปฏิบัติไปตามที่ได้ยินได้ฟังและได้อ่านมาอย่างสุ่มเดา ไม่มีครูอาจารย์สั่งสอนแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องชัดเจนให้ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าคิดแสวงหาครูบาอาจารย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ และเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงหลวงพ่อจรัญวัดอัมพวัน เพราะท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและข้าพเจ้ามีความเคารพนับถือท่านอยู่ห่างๆ ข้าพเจ้าจึงนำดอกไม้ธูปเทียนแพเข้าไปกราบมอบกายถวายชีวิต เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อในวันเกิดของท่านปี ๒๕๔๑ ในวันนั้นข้าพเจ้าเตรียมคำถามปัญหาธรรมที่เป็นความขัดข้องในการปฏิบัติของข้าพเจ้า เพื่อจะกราบเรียนให้ท่านชี้นำแนวทางการปฏิบัติและการแก้ปัญหาให้

    เหมือนกับหลวงพ่อล่วงรู้สภาวะจิตของข้าพเจ้า เมื่อถึงเวลาท่านลงให้กรรมฐานและแสดงธรรม คำตอบต่อปัญหาของข้าพเจ้าก็พรั่งพรูออกจากเนื้อหาธรรมเทศนาของหลวงพ่อทุกข้อ จนถึงขั้นนิพพาน โดยที่ข้าพเจ้ามิได้เอ่ยปากถาม เป็นผลให้ข้าพเจ้ามีความแจ่มชัดในหัวข้อธรรมและการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ดังเช่นปัญหาการถูกกลั่นแกล้งข่มเหงรังแกและดูหมิ่นจากเพื่อนบ้าน (สุดยอดอันธพาล) 

    หลวงพ่อก็สอนให้วางเฉยเสีย ไม่ต้องโต้ตอบ เขาจะนิทาว่าร้ายอย่างไรให้นิ่งเสีย ไม่ต้องรับเอามาเป็นข้อวิตกทุกข์ร้อน แล้วสิ่งชั่วที่เขานำมาใส่ร้ายป้ายสีให้เรานั้น จะกลับไปเป็นสมบัติเผาลนจิตใจของเขาเอง เหมือนกับที่มีผู้หนึ่งผู้ใดนำสิ่งของมามอบให้เรา ถ้าเราไม่รับไว้ สิ่งของเหล่านั้นก็ต้องตกเป็นของเขาเอง หลวงพ่อกำชับอีกว่า เมื่อทำบุญกุศลใดๆ เช่นบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เสร็จแล้วให้แผ่เมตตาให้เขาด้วย ข้อหลังนี้รู้สึกว่าจะผืนใจทำได้ยากสักหน่อย แต่นานๆไปก็สามารถทำได้

    ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าผลแห่งเมตตาที่แผ่ไปนั้น จะเป็นความสำเร็จแก่เขาหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือจิตใจของเราสงบร่มเย็นขึ้น และพฤติกรรมก้าวร้าวรังแกของเขาก็คลี่คลายเบาบางลง คืนวันนั้นหลวงพ่อเมตตาสอนเรื่องการบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐานสี่ คือวิธีปฏิบัติเบื้องต้น ให้ยึดแนวหลักสติเป็นตัวสำคัญ ซึ่งมีอยู่ ๔ ข้อคือ

ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า พิจารณากายในกาย ดูร่างกายสังขารของเราให้รู้ไว้เป็นเบื้องต้น

ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอยู่สามประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา (ไม่สุขไม่ทุกข์)

ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตเป็นธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ เราต้องรู้ที่เกิดของจิตอีกด้วย

ข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถแยกและพิจารณาจิตของเราได้ ว่าคิดเป็นกุศลหรืออกุศล

    หลวงพ่ออธิบายว่า สติปัฏฐานเป็นทางสายเอกที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความพ้นทุกข์ ทางสายนี้เป็นหนทางเดียว ที่มีอยู่ในโลก และมีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เข้าปฏิบัติธรรมในสำนักวัดอัมพวันตามกาลตามโอกาสเสมอมา โดยเฉพาะในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ วันเกิดของหลวงพ่อ (๑๕ สิงหาคม) และวันประสบอุบัติเหตุ (๑๔ ตุลาคม) มิได้ขาด เมื่ออยู่ในบ้านตามปกติก็ทำวัตรเช้าเย็น สวดพระพุทธคุณเท่าอายุบวก ๑ สวดคาถาชินบัญชร เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นกิจวัตร

    ผลแห่งการปฏิบัติก็คือ ได้ความสงบสุขร่มเย็นผู้จ้องล้างผลาญจองเวรจองกรรมข่มเหงรังแกก็เบาบางการกระทำลงไป สมกับพุทธภาษิต ที่ว่า

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ํ
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรา นุสาสกา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมสักการบูชา พระคุณของพระเดชพระคุณ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

ด้วยความเคารพอย่างสูง
“ปญฺญา วัฑฺฒิ กเรเตเต ทนฺโนวาเท นมามิหํ”

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›