๒๑/๔๔ หลวงพ่ออุปถัมภ์สร้างวิหารพุทธโคดมอุดมโชค

นรินทร์ จริโมภาส

 

    นับเป็นมิ่งขวัญมงคลอันดีอย่างยิ่ง ที่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ พระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ มีเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันและญาติธรรมชาวขอนแก่น โดยท่านให้ความอุปถัมภ์เพื่อก่อสร้างวิหารพระพุทธโคดมอุดมโชค โดยมีคำสั่งให้พระครูปลัดสิทธิวรวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น ดำเนินงานให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด โดยมุ่งหมายให้วิหารมีความเรียบง่าย สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วเกิดความสงบ ความน่าเลื่อมใสศรัทธา ใช้สอยได้อย่างเหมาะสม

    หลังจากที่ท่านพระครูปลัดสิทธิวรวัฒน์ได้น้อมรับคำสั่งแล้ว ท่านได้มอบหมายให้อาจารย์รุจ ดุลยากร และอาจารย์ศุภชัย ดำเนินการออกแบบจนกระทั่งแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ การก่อสร้างวิหารพระพุทธโคดมจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อให้ญาติธรรมได้ร่วมอนุโมทนาและร่วมบุญกุศลกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อต่อไป

    วิหารพระพุทธโคดมนี้ เกิดขึ้นจากการที่สตรีผู้มีจิตศรัทธาชาวไต้หวัน คุณฟาง เจีย ถวายพระหยกขาวให้พระเดชพระคุณพระธรรมสิงหบุราจารย์ ซึ่งท่านถวายนามว่า “พระพุทธโคดมอุดมโชค” ในความหมายว่า “พระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่ประทานพรแห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภแก่ผู้ที่มีศีลกราบไหว้บูชา” เป็นพระพุทธรูปปางพิชิตมาร มีพุทธลักษณะแบบพม่า แกะสลักหยกขาว ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๓๐ เมตร สูง ๕.๓๐ เมตร ความหนาขององค์พระ ๑.๒๓ เมตร งดงามทั้งองค์ พระพักตร์แสดงความเมตตาน่าเลื่อมใสเคารพบูชา

    พระพุทธโคดมอุดมโชคมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ตั้งแต่สมัยที่ท่านได้เดินทางไปธุดงค์ที่ประเทศพม่า ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องราวไว้เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ แก่คณะศิษยานุศิษย์ชาวขอนแก่น ที่เข้ากราบนมัสการอวยพรหลวงพ่อ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่าน ดังนี้

    จะขอย้อนหลังกลับไปตั้งแต่สมัยที่อาตมาได้ไปพบหลวงพ่อดำ พระในป่า อาจารย์ของอาตมา ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นนั้น เมื่อได้เจอท่าน ท่านได้กล่าวกับอาตมาว่า “เธอมีบุญนะ ขอให้เธอกลับไปเจริญสติปัฏฐาน ๔ เธอบวชเนี่ยอุปัชฌาย์อาจารย์ให้กรรมฐานหรือเปล่า เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ โลมา นะขา ทันตา เกศา ยืนหนอ ๕ ครั้งให้ได้ ทบทวนตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงปลายเท้า จากปลายเท้ากลับไปถึงปลายผม แล้วให้หาคำตอบของปริศนาธรรม อยากเรียนรู้ถามหญิงทอหูก อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว เดินทางเดียวอย่าได้เหยียบรอยกัน นะอยู่หัวสามตัวอย่าละ นะอยู่ไหนตามไปเอามาให้ได้ ถ้าเธอทำได้ให้ไปเจอเราที่เขาภูคา จังหวัดน่านต่อไป”

    เมื่ออาตมากลับไปเจอหลวงพ่อดำอีกครั้งที่เขาภูคา จังหวัดน่าน ก็ได้เดินธุดงค์กับท่านไปยังประเทศพม่า เมืองหงสาวดี เมืองมันดาเล ก็ไปพบพระพุทธรูปองค์นี้ สวยงามประทับใจมาก อาตมาก็ไปบนบานศาลกล่าวไว้ว่า พระหยกแก้วของพม่าองค์นี้สวยงามมาก ถ้าอาตมามีบุญ ก็ขอนิมนต์ไปเมืองไทย ๓๐ ปีพอดีในปีนี้ นับจากวันที่อธิษฐานไว้

    โยมฟาง เจีย ชาวไต้หวัน ก็ได้ไปจัดการแกะสลักพระมา พม่าคนที่แกะสลักพระคนนั้นก็รู้จักอาตมา มีรูปอาตมาอยู่ที่บ้านเขาด้วย

    การขนย้ายอัญเชิญพระจากชายแดนพม่าเข้าสู่ไทย โดยท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ (ธีรวัฒน์ ฐานุตฺตโร) พร้อมด้วยคุณฟาง เจีย และคณะกรรมการศูนย์เวฬุวัน โดยมีคณะศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จากสิงห์บุรี กรุงเทพฯ และที่แม่สอด คอยประสานงานช่วยเหลือเรื่องการขนย้ายให้อย่างดีเยี่ยม ที่ชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่ออัญเชิญไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน ซึ่งในวันนั้นฝนตกพอชุ่มชื้น นับเป็นนิมิตอันดีของคณะผู้ร่วมเดินทางทุกคน

    การเดินทางใช้เส้นทางผ่านจังหวัดนครสวรรค์ แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ไกลกว่าเส้นทางอื่น แต่ก็คาดว่าปลอดภัยและสะดวกที่สุด เนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมาก เส้นทางต้องผ่านเนินเขา ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

    ครั้งหนึ่งที่ยางรถเทลเลอร์ทำท่าว่าจะระเบิด เนื่องจากต้องบรรทุกน้ำหนักของพระมาก แต่ก็มีเสียงสัญญาณประหลาดดังขึ้น ทำให้คนขับรถลงไปดูและพบว่ายางล้อมีปัญหา หากเกิดระเบิดขึ้นอาจเกิดการพลิกคว่ำ จะเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายแก่องค์พระได้ จึงตัดสินใจแวะเข้าสถานีบริการยางรถที่ไม่ไกลจากจุดตรวจสอบ ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งเดินทางถึงจังหวัดขอนแก่น โดยเดินทางถึงเร็วกว่ากำหนดหลายชั่วโมง ทั้งที่เส้นทางมีระยะทางไกล นับเป็นความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้น ที่ผู้ร่วมเดินทางอัญเชิญได้ตั้งข้อสังเกต

    เมื่อขบวนอัญเชิญองค์พระมาถึงศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน ฝนก็โปรยปรายลงมาเป็นการต้อนรับ กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมต่างร่วมกราบนมัสการอนุโมทนาต้อนรับ และได้จัดพิธีเจริญชัยมงคลคาถานมัสการ ในขณะที่อัญเชิญองค์พระลงจากรถบรรทุก ได้จัดพิธีบูชาบวงสรวงพญานาคและสิ่งศักดิ์สิทธ์ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันในวันนั้นด้วย และคุณฟางได้ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงและโปรยดอกไม้บริเวณที่เรียกว่า “บ่อพญานาค” ทางด้านหลังของศาลา ๗๒ ปีหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ในปัจจุบัน

    ทุกคนที่ไปร่วมงานเมื่อได้เห็นองค์พระแล้ว ต่างก็ทึ่งในความสามารถของช่างแกะสลักและบุญบารมีของผู้สร้าง และถือว่าเป็นบุญกุศลที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับพระประธานด้วย

    วันที่อัญเชิญพระพุทธโคดมอุดมโชคขึ้นสู่แท่นที่ประดิษฐาน ซึ่งต้องใช้เครนยกขึ้น วันนั้นฝนก็ตกพรำๆ ตลอดทั้งวัน แต่เมื่อรถเครนยกองค์พระลอยขึ้นจากพื้น ฝนก็หยุดตกทันที และเมื่อวางองค์ลงบนแท่นที่ประดิษฐานแล้วฝนก็ตกต่อทันที เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีการทำพิธีสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธโคดมอุดมโชคครั้งใด มักมีฝนตกลงมาอยู่เสมอ เป็นที่อัศจรรย์ใจต่อตัวผู้เขียนเองเป็นอย่างมาก

    วิหารพระพุทธโคดมแห่งนี้ จะเป็นจุดรวมใจของคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อ พระธรรมสิงหบุราจารย์ ขอเชิญญาติธรรมทุกท่านเข้าเยี่ยมเยียนศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน นมัสการพระพุทธโคดมอุดมโชค ร่วมอนุโมทนาสร้างบุญกุศลร่วมกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ องค์อุปถัมภ์ในการสร้างวิหารพระพุทธโคดมอุดมโชคนี้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›