๑๘/๔๐ หลวงพ่อสอนคุณธรรม

รศ.ดร.พินิจ รัตนกุล
มหาวิทยาลัยมหิดล

    สังคมไทยปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าในยุคสมัยใด แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคมก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เหมือนเดิม ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นทุกที จนเป็นอุปสรรคกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย ประเทศไทยมีทรัพยากร ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์กว่าหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาค แต่ในเรื่องคุณภาพของประชากรแล้วประเทศไทยยังด้อยกว่าหลายประเทศ

    นักวิชาการชาวตะวันตกคนหนึ่งเคยให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเทศไทยว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศเป็นเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติเหมือนสิงคโปร์และอิสราเอล การขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และการขาดจิตสำนึกทางสาธารณะเป็นตัวอย่างสำคัญของปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของประชากรชาวไทย ปัญหาสองประเภทแรกอาจแก้ไขได้ด้วยการศึกษาไม่ยากลำบากเหมือนปัญหาประเภทหลัง ที่เป็นเรื่องของจิตใจที่ละเอียดอ่อนและเปลี่ยนแปลงได้ยาก การขาดจิตสำนึกทางสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางจริยธรรมสำคัญของสังคมไทยปัจจุบัน ข่าวคราวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในองค์กรต่าง ๆ และความเสื่อมโทรมทางจิตใจของนักเรียนนักศึกษามีอยู่ในหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่วงการศาสนาเองก็มีเรื่องเสื่อมเสียทำนองนี้

    คำสอนในศาสนาต่าง ๆ มิได้ต่อต้านทั้งความเจริญก้าวหน้าของสังคมและการพัฒนาตนให้เป็นคนมีจิตใจสาธารณะ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตนคนไทยมีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ แต่คนไทยที่นำคำสอนในศาสนาที่นับถืออยู่มาใช้เป็นแนวทางดำเนินอย่างจริงจังนั้นมีอยู่จำนวนน้อย

    คนไทยส่วนมากมักจะปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามกระแสเชี่ยวของวัตถุนิยม บริโภคนิยมและความเห็นแก่ตัวที่เป็นอันตรายต่อส่วนรวม ถ้าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปคนไทยจะมีชีวิตต่างไกลจากความสงบสุขไปทุกที และสังคมไทยอาจพบจุดจบในวันใดวันหนึ่งได้ เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงมีการรณรงค์เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในวงการต่าง ๆ เป็นการใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ และมีการกระตุ้นให้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและสถาบันศาสนาเร่งช่วยแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมในบุคคลกลุ่มนี้ให้มากเป็นพิเศษกระทรวงศึกษาธิการถึงกับกำหนดให้การสอนคุณธรรมเป็นภารกิจหลักของสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ

    หลวงพ่อมีสายตา มองเห็นความสำคัญของการสร้างคนดีมีคุณธรรมให้แก่ประเทศชาติมานาน ก่อนที่จะมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงมุ่งมั่นทำให้วัดอัมพวันเป็นศูนย์พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของคนทุกประเภทตั้งแต่ที่ยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมในจิตใจของคนไทย หลวงพ่อได้ใช้วัดอัมพวันเป็นสถานที่ฝึกอบรมจิตใจของคนทุกวงการไปแล้วหลายแสนคน นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมเวฬุวันที่จังหวัดขอนแก่น สำหรับให้คนแถวภาคอีสานและประเทศใกล้เคียงที่ไม่มีโอกาสมาวัดอัมพวัน ได้ใช้พัฒนาจิตใจของตนให้เจริญงอกงามขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ประมาณการว่ามีผู้มาใช้ประโยชน์จากศูนย์แห่งนี้ไปแล้วจำนวนมากกว่าแสนคนงานพัฒนาจิตใจของประชาชนคนไทยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของหลวงพ่อ ที่จะเสกคนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและเทศชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อได้ทำภารกิจนี้สม่ำเสมอ ด้วยดวงจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ต้องการให้ทุกคนไม่ว่ามีฐานะใดได้มีโอกาสพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐตามศักยภาพที่มีอยู่

    ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะแนะนำผู้อ่าน ให้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการสอนคุณธรรมที่จะทำคนให้เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ความคิดมาจากความบันดาลใจจาการสังเกตุดูวิธีเสกคนของหลวงพ่อ และจากการสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเป็นครั้งคราว ผู้เขียนหวังว่าข้อเขียนนี้จะเป็นประโยชน์แก่ครูอาจารย์ ที่กำลังแสวงหาวิธีปลูกฝังคุณธรรมในตัวนักเรียน นักศึกษา และบิดามารดาที่ต้องการสอนลูกให้เป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมไทย

คุณธรรมและจริยธรรม : อยู่ที่ไหน?
เหมือนกันหรือแตกต่างกัน?

    คุณธรรมเป็นเรื่องของจิตใจ หมายถึงคุณสมบัติวิเศษที่ถ้าหากผู้ใดมีสิ่งนี้อยู่ในตัว ก็ถือกันว่าผู้นั้นเป็นคนดี ทั้งต่อหน้าผู้อื่นและเมื่ออยู่ลำพังคนเดียว คนมีคุณธรรมจะเป็นคนดีแต่เฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าผู้อื่นเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความดีอยู่ในตัวเวลาไม่มีผู้ใดมองเห็นด้วย ส่วนจริยธรรมเป็นเรื่องของความประพฤติที่แสดงออกให้เห็น คนดีมีคุณธรรมคือคนที่มีจิตใจดีงาม และโดยปกติแล้วเป็นผู้มีจริยธรรมหรือความประพฤติงามควบคู่กันไป ดังนั้นเวลาพูดถึงคนดี เราจึงมักจะหมายถึง ผู้มีทั้งคุณธรรมที่จิตใจและจริยธรรมในความประพฤติ ถึงแม้ทั้งสองสิ่งนี้จะมีฐานที่อยู่คนแห่ง (ฐานของคุณธรรมอยู่ที่จิตใจที่มองไม่เห็น แต่ฐานของจริยธรรมอยู่ที่ความประพฤติที่มองเห็น) ในทางทฤษฎีคุณธรรมและจริยธรรมแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ในชีวิตจริงคนมีจริยธรรมไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรมเสมอไป คนบางคนอาจทำตัวเอง (เสแสร้ง) ให้คนมองเห็นว่าเป็นคนมีความประพฤติดีตามความคาดหวังของสังคม เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วผู้นั้นเป็นคนไม่มีจิตใจดีงามเหมือนกับความประพฤติที่แสดงออกให้เห็น ในทำนองเดียวกัน คนบางคนอาจมีจิตใจดีงาม แต่เนื่องจากขาดปัญญาหรือความรู้เกี่ยวกับลักษณะของการกระทำที่ดีพฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงไม่ดีงามเหมือนจิตใจ

    ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การที่คุณธรรมและจริยธรรมมีฐานที่อยู่ไม่เหมือนกันนั้น ทำให้คุณธรรมและจริยธรรมไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ทั้งสองก็ไม่ได้อยู่ห่างกันมากจนไม่มีความสัมพันธ์กันเลย คุณธรรมและจริยธรรมอาจสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในบางกรณีและอาจอยู่ห่างไกลกันในบางกรณีเช่นกัน

ทำไมมนุษย์จึงต้องมีคุณธรรมด้วย?
    คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ เพราะคุณธรรมย่อมนำความสุขมาสู่ตัวคนแต่ละคน ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องและสังคมที่อยู่ ในนัยนี้คนที่ไม่มีคุณธรรมย่อมนำความทุกข์หรือความเสียหายมาสู่ตนเองและผู้อื่น สังคมมักจะเรียกผู้ไม่มีคุณธรรมว่าเป็นคนไม่ดีหรือคนชั่ว

    ความชั่วไม่แต่เพียงเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่ทำลายตัวคนชั่วเองด้วย คือทำให้คนชั่วตกต่ำลงไปทุกที เพราะจะทำให้จิตใจเสื่อมโทรมลงไปทีละน้อย ความเสื่อมโทรมทางจิตใจส่งผลให้ความทุกข์ทางใจเพิ่มขึ้น และโดยเหตุที่จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นเมื่อจิตใจทุกข์ ร่างกายจึงมักจะทุกข์ตามไปด้วย ดังนั้นการเป็นคนดีมีคุณธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการหาความสุขให้แก่ต้วเองและ/หรือผู้อื่น ความสุขที่คนชั่วมี ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะเกิดจากความหลงผิดมากกว่า เหมือนกับคนที่หลงเชื่อว่าแสงระยิบระยับบนยอดหญ้าที่ต้องแสงอาทิตย์ในยามเช้าเป็นแสงวูบวาบของเพ็ชร ความเสื่อมโทรมทางจิตใจไม่อาจนำความสุขมาให้แก่ตัวเราได้เพราะความสุขเป็นเรื่องของจิตใจสะอาดและเจริญงอกงามด้วยคุณงามความดี ไม่ใช่จิตใจที่มีมลทินและเสื่อมโทรม วิธีทำร้ายคนที่โหดร้ายที่สุด คือการปล่อยให้จิตใจของคนที่เราไม่ชอบถูกกัดกร่อนด้วยความชั่วในตัวเอง (เช่นความหยิ่งยะโส การยกตนข่มผู้อื่น) ไปทีละน้อย จนกระทั่งผู้นั้นไม่มีแม้แต่เงาของความดีเหลืออยู่ในจิตใจแม้แต่เพียงน้อยนิด

    คุณธรรมอะไรบ้างที่ทำให้คนแต่ละคน และสังคมมีความสุข?
ปัญหาที่ว่าคุณธรรมหรือคุณสมบัติวิเศษ ที่ทำให้คนแต่ละคนและสังคมมีความสุขมีอะไรบ้างนั้น ในคำสอนของพุทธศาสนาที่หลวงพ่อได้เมตตาชี้ให้เห็นนั้น คุณธรรมสำคัญที่สุดคือความเมตตาและปัญญาหรือความรู้ คุณธรรมอื่น เช่นความขยันหมั่นเพียร การควบคุมตัวเอง ความพอดี มีความสำคัญเหมือนกัน แต่สำคัญน้อยกว่าคุณธรรมทั้งสอง การที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ปัญญาหรือความรู้มากเป็นพิเศษกว่าคุณธรรมอื่น เพราะพุทธศาสนาถือว่าความรู้เป็นรากฐานของคุณธรรมต่าง ๆ ความกล้าหาญในพุทธศาสนาไม่ใช่ความกล้าอย่างบ้าบิ่น เช่นเมื่อเห็นคนตกน้ำ ก็รีบกระโจนลงไปช่วยทั้ง ๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ความกล้าประเภทนี้ไม่ใช่คุณธรรม เพราะสามารถนำอันตรายหรือความทุกข์มาสู่ตัวเราได้

    ความกล้าหาญที่เป็นคุณธรรมเป็นการกล้าในสิ่งที่สมควรจะกล้าและการไม่กล้าในสิ่งที่สมควรจะไม่กล้า คือกล้าทำความดีและกลัวความชั่ว พยายามหลีกหนีแม้แต่เงาของความชั่ว ในทำนองเดียวกัน ความพอดีหรือการมีชีวิตอยู่ในทางสายกลางเป็นคุณธรรมในพุทธศาสนา เพราะมีปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัญญาหรือความรู้ทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์และความต้องการต่าง ๆ ไม่ให้มีมากเกินไป พร้อมทั้งสามารถเลือกตอบสนองอารมณ์และความต้องการบางอย่างที่สมควรตามความเหมาะสมแต่ละกรณี ดังนั้นความพอดีหรือทางสายกลางและความรู้จึงแยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าหากปราศจากความรู้ว่าความต้องการใด ดีหรือไม่ดี และเส้นที่ขีดคั่นระหว่างความพอดีและความสุดโต่งอยู่ที่ไหน เราก็จะมีคุณธรรมเรื่องความพอดีหรือทางสายกลางไม่ได้

    ความเมตตาที่เป็นคุณธรรมในพุทธศาสนานั้น มีปัญญาหรือความรู้เป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับความกล้าหาญความเมตตาในพุทธศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกชั่วครั้งชั่วคราว เช่นอารมณ์สงสาร ที่มักจะไม่คงทนถาวรแต่เป็นผลของการมีปัญญาหยั่งรู้สัจจธรรมมากกว่า ดังนั้นความเมตตาจึงเป็นสิ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างเหมือนอารมณ์ เช่นการที่รู้ว่าชีวิตทุกประเภทในสังสารวัฏมีความทุกข์เป็นพื้นฐานเหมือนกัน ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของความเอื้ออาทรและการช่วยเหลือผ่อนปรนความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น การมองเห็นด้วยปัญญานี้เป็นบ่อเกิดของความเมตตาหรือความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ความเมตตานอกจากมีฐานอยู่ที่ปัญญาแล้ว การแสดงออกของความเมตตายังมีปัญญาเกี่ยวข้องอีกด้วย ความเมตตาที่ไม่มีปัญญาเกี่ยวข้องอาจนำอันตรายมาสู่ตัวเราและผู้ที่เราเมตตาโดยไม่ตั้งใจได้

คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนได้หรือไม่?
    คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนได้แน่นอน ถ้าหากไม่เป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าคงไม่เสียเวลาสอนคุณธรรมแก่คนทั้งหลายและเผยแพร่ศาสนาไปยังกลุ่มบุคคลต่าง ๆ อย่างแน่นอนปัญหาที่ถกเถียงกันในเวลานี้ในวงการศึกษา ไม่ใช่ปัญหาที่ว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนได้หรือไม่ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีการสอนคุณธรรมมากกว่า เพราะการสอนคุณธรรมแตกต่างจากการสอนวิชาอื่น การสอนคุณธรรมมุ่งมั่นที่จะให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีคุณธรรมที่สอนอยู่ในตัว ดังนั้นการสอนคุณธรรมจึงต้องพิถีพิถันเรื่องวิธีการสอนมากเป็นพิเศษ นักวิชาการบางคนมีความคิดว่าวิธีการสอนคุณธรรมที่จะให้ผลตามความต้องการ ต้องเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์แต่ปัญหาเรื่องอะไรคือธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์เป็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

    ทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ที่นักวิชาการสาขาต่าง ๆ สร้างขึ้นมามีอยู่มากมายหลายทฤษฎี และทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้มักจะขัดแย้งกัน เราจึงสรุปให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้ว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างไรแน่ แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ทุกทฤษฎี ต่างชี้ให้เห็นเหมือนกันว่ามนาย์เป็นสัตว์โลกที่สอนได้ (หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าเวไนยสัตว์) ดังนั้นไม่ว่าธรรมชาติมนุษย์จะเป็นอย่างไร การสอนคุณธรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แน่นอน และเป็นประโยชน์แก่มนุษย์แน่ ปัญหาที่เกิดตามมา คือปัญหาที่ว่าเราจะสอนคุณธรรมอย่างไรจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน

(๑)การสอนด้วยการสร้างปัญญา
นักวิชาการบางคนเชื่อว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผลและมีปัญญาเป็นส่วนสำคัญที่สุด ของชีวิต ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้การสอนคุณธรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์มากที่สุด จึงต้องมุ่งมั่นให้ผู้เรียนเกิดปัญญาหรือความรู้มากกว่าให้จดจำคำสอน และโดยเหตุที่ความรู้ไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่จะหยิบยื่นให้กันได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากการใช้สติปัญญาของผู้เรียนเอง ดังนั้นการสอนคุณธรรมที่มุ่งให้นักเรียนมีความรู้เรื่องคุณธรรม จึงต้องไม่ใช้วิธีการสอนแบบบรรยายที่ให้นักเรียนจดจำคำสอนและยึดถือครูเป็นสรณะ การสอนในรูปของการสนทนาโต้ตอบระหว่างครูและนักเรียน เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกว่าเพราะการสอนด้วยวิธีนี้จะกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์เอง ทั้งในเรื่องของความหมายและประเภทของคุณธรรมที่ตนควรจะปลูกฝังให้มีอยู่ในตัว

    การคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองมีความสำคัญมากในการเรียนการสอนคุณธรรม เพราะจะนำไปสู่ความรู้ในที่สุดได้ในการสอนรูปแบบนี้ ครูไม่มีหน้าที่ “สอน” ในความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่มีหน้าที่ช่วยเหลือให้นักเรียนมีความรู้ด้วยสติปัญญาของตนเอง เช่นด้วยการที่ครูตั้งคำถามและให้นักเรียนขบคิดหาคำตอบเอง และด้วยการวิพากย์วิจารณ์ความคิดของนักเรียน ว่าเป็นความคิดที่สมเหตุสมผลและตรงกับความจริงมากน้อยเพียงใด ครูไม่มีหน้าที่ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่นักเรียนไว้จดจำ ในนัยนี้ครูจึงมีหน้าที่เหมือนหมอตำแยสมัยก่อน ที่ช่วยหญิงที่กำลังจะคลอดลูกให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น เช่นด้วยการบีบนวดหรือใช้ยา แต่ไม่ใช่ด้วยการคลอดลูกแทนหญิงมีครรถ์

    การสอนคุณธรรมด้วยวิธีสนทนาโต้ตอบที่กล่าวมาเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการช่วยเหลือให้เจ้าสำนักต่าง ๆ เกิดปัญญาหยั่งรู้เรื่องคุณธรรมเอง เช่นการสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์ ทำให้นิคนธ์ที่เป็นเจ้าสำนักลัทธิศาสนาสำนักหนึ่งเกิดปัญญารู้เองว่า ไฟที่ตนควรเกรงกลัวมากที่สุดคือไฟของกิเลสตัณหา ไม่ใช่ไฟในกองไฟ

    การสอนด้วยการสนทนาโต้ตอบอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมแก่สมัยปัจจุบันที่นักเรียนเรียกร้องที่จะคิดเอง ไม่ต้องการให้ผู้ใดยัดเยียดความคิดหรือสร้างโปรแกรมใส่ในจิตของตนปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำวิธีนี้มาใช้ในการปฏิบัติ คือปัญหาเกี่ยวกับครูสอนคุณธรรม เพราะครูจะต้องมีความรู้เรื่องคุณธรรมและมีความสามารถในการสอนมากเป็นพิเศษจึงจะสามารถช่วยให้ นักเรียนรู้เองว่าอะไรดีหรืออะไรไม่ดี การสอนด้วยวิธีนี้อาจยากลำบากสำหรับครูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนโดยตรงให้ทำหน้าที่เช่นนี้ และไม่อาจนำมาใช้ในชั้นเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากจนครูไม่สามารถให้ความสนใจแก่นักเรียนคนใดเป็นพิเศษได้ ดังนั้นวิธีการสอนแบบนี้ จึงเป็นทฤษฎีที่น่าสนใจในวงการศึกษา แต่เป็นวิธีที่ยากลำบากในการปฏิบัติ หลวงพ่อได้ใช้วิธีนี้สอนคุณธรรมแก่คนบางคนที่มีพุทธจริต (สติปัญญาสูง) เท่านั้น สำหรับคนทั่วไปหลวงพ่อใช้วิธีอื่นที่จะได้กล่าวต่อไป

    วิธีการสอนคุณธรรมวิธีหนึ่งที่ได้ความคิดมาจากหลวงพ่อ คือการนำคุณธรรมในศาสนาพุทธมาสอนมากกว่าการให้นักเรียนคิดค้นหาคุณธรรมด้วยปัญญาของตนเอง การสอนในรูปแบบนี้ครูยังมีบทบาทสำคัญอยู่เหมือนการสอนด้วยวิธีสนทนาโต้ตอบ กล่าวคือครูจำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องคำสอนในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งมากพอที่จะอธิบายให้นักเรียนเข้าใจได้ ครูจะเสแสร้างทำตัวว่ามีความรู้ดังกล่าวไม่ได้ มิฉะนั้นนักเรียนจะขาดความเคารพและเลื่อมใสในตัวครู

    นอกจากความรู้ทางศาสนาแล้ว ครูสอนคุณธรรมจะต้องรู้วิธีสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนคุณธรรมไม่น่าเบื่อหน่ายสำหรับนักเรียนด้วย ส่วนการสอนด้วยวิธีที่สนุกสนานจะทำให้นักเรียนมีคุณธรรมที่สอนหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องประเมินกันอย่างจริงจัง นักเรียนอาจสนใจเรียนรู้เรื่องคุณธรรมศาสนา เพราะครูสอนเก่งและสอนสนุก แต่นักเรียนจะยอมปลูกฝังคุณธรรมที่เรียนมาให้มีอยู่ในตัวมากน้อยเพียงใด และคุณธรรมนั้นจะอยู่ในตัวนักเรียนยาวนานแค่ไหนนั้น จะต้องมีการประเมินอย่างจริงจังเช่นกัน

    อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงในการสอนคุณธรรมด้วยวิธีดังกล่าว คือครูควรจะให้นักเรียนมีโอกาสคิดวิเคราะห์คำสอนในศาสนา ด้วยสติปัญญาของตัวเองด้วย นักเรียนจะได้เกิดปัญญารู้ว่าทำไมคุณธรรมในศาสนาจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ทำไมศาสนาพุทธจึงสอนว่าความเพียรพยายามเป็นคุณธรรม ทำไมจึงไม่สอนให้เป็นคนอยู่เฉย ไม่ทำอะไรเลย ทำไมเราจึงควรให้อภัยที่ทำความเจ็บปวดให้แก่จิตใจเราอย่างสาหัสด้วย

    ในเรื่องของความเมตตาที่เป็นคุณธรรมสำคัญของพุทธศาสนานั้น ครูควรให้นักเรียนวิเคราะห์ความหมายและธรรมชาติของความเมตตาให้เข้าใจถ่องแท้ จะได้รู้ว่าความเมตตาควรมีขอบเขตจำกัดแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือในการสอนคุณธรรมในพุทธศาสนา ครูจะต้องพยายามให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาปัญญาของตนควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง แม้แต่ศีล ๕ ที่ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่ายนั้น ครูก็ต้องให้นักเรียนได้คิดและเข้าใจด้วย เช่นทำไมสังคมปัจจุบันที่มีสภาวะแตกต่างจากสังคมสมัยพุทธกาล การรักษาศีล ๕ จึงยังคงเป็นประโยชน์อยู่เหมือนเดิม และเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับกาลสมัย

    การสนทนาโต้ตอบระหว่างครูกับลูกศิษย์ในเรื่องศีล ๕ จะทำให้นักเรียนเข้าใจศีล ๕ ได้ถูกต้องขึ้น เช่นเข้าใจว่าศีลข้อ ๒ และข้อ ๕ ไม่ได้มีลักษณะคับแคบไม่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาในสังคมปัจจุบัน เช่นไม่ครอบคลุมกรณีที่พ่อค้าโกงลูกค้า หรือกรณีคอร์รัปชั่นและยาเสพติด ในทำนองเดียวกันการใช้เหตุผลวิเคราะห์จะทำให้นักเรียนเข้าใจศีลข้อ ๒ ที่ห้ามลักทรัพย์ผู้อื่นว่ามีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้เราได้ทรัพย์ต่าง ๆ มาโดยไม่ชอบธรรม พร้อมทั้งเข้าใจด้วยว่าทรัพย์ที่ศีลข้อ ๒ พูดถึงนั้นมีทั้งทรัพย์ที่มีตัวตนเป็นวัตถุสิ่งของและทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนเช่นความคิดและเวลา พ่อค้าที่โกงลูกค้าหรือกักตุนสินค้าไว้ ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นมา เพื่อจะได้ขายสินค้าในราคาสูงกว่าปกติ ถือว่าเป็นการลักทรัพย์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นการได้ทรัพย์ที่ไม่สมควรได้มา (กำไรที่มากเกินไป) และเป็นเหตุให้คนอื่นที่มีโอกาสจะได้ทรัพย์นั้นต้องพลาดโอกาสไป และในบางครั้งก็ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากการที่พ่อค้ากักตุนสินค้าข้าราชาการที่ใช้เวลาทำงานไม่เต็มที่แบบที่เรียกกันว่า “เช้าชามเย็นชาม” ก็ถือว่าละเมิดศีลข้อนี้เช่นกัน เพราะการทำงานไม่เต็มเวลา ทำให้หน่วยงานเสียทรัพย์หรือประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ไป นายจ้างที่ขยักเงินค่าจ้างไว้ ไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงให้แก่คนงานตามที่ตกลงไว้ ทำผิดศีลข้อนี้เหมือนกัน ความเข้าใจดังกล่าวนี้จะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อครูสอนศีล ๕ ด้วยการสนทนาโต้ตอบกับนักเรียน

    หลวงพ่อได้ย้ำเสมอว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ธรรมทุกประเภทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นมีเหตุมีผลอยู่ในตัวทั้งนั้น ดังนั้นในการนำคุณธรรมต่าง ๆ ในศาสนาพุทธมาสอน ครูจะต้องช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้ใช้สติปัญญาของตนวิเคราะห์เหตุผลที่มีอยู่ในคำสอนเหล่านั้นให้กระจ่างชัดแจ้ง หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าโยนิโสมนสิการ สติปัญญาที่รู้แจ้งเรื่องความดีคือพระแท้ ผู้ใดมีอยู่ ผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ในตัว

    ด้วยเหตุนี้การสอนคุณธรรมในศาสนาพุทธด้วยการให้นักเรียนท่องจำนั้น จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่ต้องการให้เราศึกษา พระธรรมทุกเรื่องด้วยปัญญาหรือเหตุผล แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง พระองค์ทรงเน้นเสมอว่าให้สาวกใช้สติปัญญาของตนคิดวิเคราะห์พระธรรมคำสอนของพระองค์ให้ถ่องแท้ จนมองเห็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อและปฏิบัติตาม ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนชาวกาลามะไม่ให้เชื่อตามที่ได้ยินได้ฟังตามมา ตามที่มีผู้เชื่อมาก่อน ตามข่าวเล่าลือ ตามที่อ้างว่ามีในตำราหรือคัมภีร์ ตามการเดาหรือคาดคะเน และตามคำสอนของครูอาจารย์ฯลฯ พระสูตรนี้ชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ที่ต้องการให้ชาวพุทธไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ และให้ขบคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตุข้อสงสัยในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านก่อนที่จะเชื่อ

(๒)การสอนด้วยแบบอย่าง
    วิธีการสอนคุณธรรมอีกวิธีหนึ่ง ที่ได้ข้อคิดมาจากการมองเห็นหลวงพ่อทำองค์ท่านให้เป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่ผู้ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อมีความอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ สามารถฟันฝ่ากิเลสตัณหาได้ มีความใฝ่รู้ หาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลามีความกตัญญูต่อบุพการีครูอาจารย์และผู้มีคุณทั้งหลาย ต่อแผ่นดินถิ่นเกิด ต่อสถาบันกษัตริย์และต่อพุทธศาสนา ครูสอนคุณธรรมควรทำตัวเป็นแบบอย่างดีงามแก่นักเรียนเช่นเดียวกับหลวงพ่อ ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะสวนทางกับความจริงในชีวิตบ้าง (เช่น เราพบในหลายกรณีว่าบิดามารดาที่ดีแต่มีลูกที่เลวหรือครูที่เป็นแบบอย่างดีงามแต่มีลูกศิษย์ที่เป็นคนเลว) แต่วิธีการสอนแบบนี้ก็ไม่ผิดความจริงไปทั้งหมด เช่นที่ชอบพูดกันว่า “เมื่อแม่ปูเดินคดลูกปูก็เดินคดไปด้วย”

    การที่ครูทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ลูกศิษย์นั้นประโยชน์อย่างน้อยที่สุดทำให้ลูกศิษย์ไม่รู้สึกผิดหวังในตัวครูสิ่งนี้อาจทำให้ลูกศิษย์มีศรัทธาในความดีของครูมากจนยอมทำตัวตามแบบอย่างครู ดังนั้นการที่ครูทำ ตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ลูกศิษย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสอนคุณธรรมแก่นักเรียน ยิ่งนักเรียนมีอายุน้อยเพียงใด โอกาสที่นักเรียนจะเลียนแบบครูยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

    ในเรื่องของจริยธรรม การที่แบบอย่างที่ดีงาม เป็นวิธีสำคัญสำหรับคนทั่วไปที่จะทำตัวให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม การมีแบบอย่างที่ดีไว้ยึดถือมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องตัดสินใจที่สำคัญ ในสถานการณ์ดังกล่าวถ้าหากก่อนที่จะตัดสินใจ เราคิดถึงแบบอย่างการกระทำของคนดีก่อน เช่นคิดว่าในสถานการณ์นี้คนดีจะทำอย่างไร ก็จะช่วยให้การตัดสินใจนั้นมีความระมัดระวังและความรอบคอบมากขึ้น ไม่วู่วามไปตามความรู้สึกหรือ สถานการณ์ เช่นเมื่อมีผู้นินทาว่าร้ายเราอย่างอยุติธรรมก่อนที่จะทำอะไรลงไป เราอาจถามตัวเองก่อนว่า ในสถานการณ์เช่นนี้พระพุทธเจ้าจะทรงทำอย่างไร การตั้งคำถามดังกล่าวเป็นการสร้างรูปแบบพฤติกรรมที่เราควรทำตามขึ้นมาในใจหรือจินตนาการ

    การระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าและ/หรือพระธรรมคำสอนทุกครั้ง ก่อนที่จะทำอะไรลงไป เป็นการสร้างรูปแบบการกระทำที่ดีขึ้นมาให้เราปฏิบัติธรรม การสร้างรูปแบบเช่นนี้มีความสำคัญมากในยามวิกฤต ในสถานการณ์เช่นนี้แทนที่เราจะทำตัวเหมือนคนทั่วไป เช่นปล่อยให้ “มืออ่อนตีนอ่อน” เราจะไม่ยอมอยู่เฉยโดยไม่ทำอะไรสักอย่าง แต่จะพยายามควบคุมตัวเองให้ได้ ดึงสติปัญญาและความมั่นใจในตัวเองที่หายไปให้คืนกลับมา เมื่อทำได้เราจะสามารถประเมินได้ว่าในวิกฤตที่เผชิญอยู่นั้นเรามีทางออกทางใดหรือไม่ และมีวิธีที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไรบ้าง การนำพุทธธรรมมาสร้างเป็นพื้นฐานแบบอย่างของการกระทำจะทำให้เราหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้โดยไม่บอบช้ำมาก

(๓)การสอนด้วยระเบียบวินัย
    วัดอัมพวันเป็นวัดที่มีระเบียบวินัย ให้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่วัดปฏิบัติตามในกิจวัตรประจำวัน ระเบียบวินัยมีความเกี่ยวข้องกับคุณธรรมอยู่ไม่น้อย การสอนคุณธรรมด้วยการกำหนดกฏระเบียบให้นักเรียนฝึกปฏิบัติตาม เป็นวิธีการสอนที่นิยมใช้กันมากในโรงเรียนต่าง ๆ เพราะเชื่อว่ากฏระเบียบเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างนิสัยที่ดีงามให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน นิสัยหรือความเคยชินมีอิทธิพลในชีวิตคนทุกคน ในคนจำนวนมากนิสัยเป็นสิ่งที่กำหนดชะตากรรมให้แก่ชีวิต เพราะโดยปกติคนเรามักจะทำอะไรตามนิสัยมากกว่าตามความคิด เมื่อนิสัยมีความสำคัญต่อชีวิตมากเช่นนี้ การสอนคุณธรรมจึงควรมุ่งที่จะให้นักเรียนปฏบัติตามกฏระเบียบให้มาก จะได้มีนิสัยและพฤติกรรมดีงามที่จะทำให้นักเรียนอยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่นที่แตกต่างจากตนได้ด้วยความสุข และโดยเหตุที่สิ่งใดที่ทำให้เป็นนิสัยแล้ว สิ่งนั้นย่อมจะไม่เป็นสิ่งยากลำบากอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อนักเรียนปฏิบัติตามกฏระเบียบจนเคยชินเป็นนิสัย การเป็นคนมีคุณธรรมจะไม่เป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับนักเรียนอีกต่อไป

    บางคนอาจกล่าวว่าการสอนคุณธรรมควรมุ่งที่จิตใจของนักเรียนมากกว่าอื่น เพราะจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต ถ้าหากจิตใจดีงามเสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีงามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด หรือการกระทำพฤติกรรมเป็นผลมาจากสภาวะของจิตใจ เป็นความจริงที่ว่าจิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์กัน และสภาพของจิตใจย่อมแสดงออกให้เห็นในการกระทำ แต่เป็นความจริงอีกเหมือนกันว่าการเปลี่ยนจิตใจคนเป็นเรื่องยากลำบากกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าหากเราเชื่อว่าคนดีคือคนที่มีจิตใจดีงามบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว เราคงหาคนดีในโลกนี้แทบไม่พบแต่ถ้าหากเราจะแสวงหาคนมีความประพฤติดี แต่จิตใจยังไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เราคงหาคนเหล่านี้ได้ไม่ยากเท่ากรณีแรกเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมหรือบังคับได้ง่ายกว่าจิตใจและเนื่องด้วยจิตใจและพฤติกรรมของคนย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการส่งเสริมคนให้เป็นคนดีจึงไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่จิตใจทุกครั้ง

    การให้ความสำคัญแก่กฎระเบียบและนิสัยเป็นการเริ่มที่พฤติกรรมก่อน พฤติกรรมที่ดีจะมีผลกระทบต่อจิตใจได้ในภายหลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ คือผลของการสวดมนต์และการแผ่เมตตาที่มีต่อจิตใจโดยผ่านพฤติกรรม คนที่ถูกบังคับด้วยกฎระเบียบให้สวดมนต์และแผ่เมตตาทุกวัน เมื่อทำจนเคยชินเป็นนิสัยแล้ว ความเห็นแก่ตัวหรือความเกลียดชังที่มีอยู่ในจิตใจย่อมคลายลงได้ และในที่สุดอาจเปลี่ยนเป็นลักษณะตรงข้ามได้ ด้วยเหตุนี้การสอนคุณธรรมด้วยการให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบและให้มีนิสัยดีงาม จึงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องไม่ลืมว่าในชีวิตจริงกฎระเบียบเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะควบคุม พฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม และคนทั่วไปมักทำตามนิสัยมากกว่าปัญญาหรือความรู้ ดังนั้นถ้าหากเราต้องการจะสอนคุณธรรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรมในนักเรียน เราคงต้องมุ่งมั่นให้นักเรียนมีระเบียบวินัยและสร้างนิสัยที่ดีงามให้เกิดขึ้นมากกว่าอย่างอื่น

    วิธีการสอนคุณธรรมที่กล่าวมาทั้ง ๓ วิธี เป็นความคิดที่ได้รับความบันดาลใจ จากการเห็นหลวงพ่อสอนผู้ปฏิบัติธรรมให้เป็นคนมีคุณธรรม ด้วยการให้ฟังธรรมด้วยปัญญาและด้วยการให้ทำตามระเบียบวินัยของวัด ในขณะเดียวกันหลวงพ่อได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างดีงามควบคู่กับคำสอนด้วย

    เราจะสอนคุณธรรมแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเน้นลักษณะต่าง ๆ ของคุณธรรมในพุทธศาสนาที่เราจะสอนคุณธรรมมีหลายลักษณะด้วยกัน ถ้าหากเราเน้นส่วนของปัญญา คุณธรรมจะเป็นความรู้ และเราคงต้องสอนคุณธรรมด้วยวิธีการที่มุ่งให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ จนเกิดปัญญามองเห็นคุณธรรมด้วยตัวเอง หรือจนเข้าใจคุณธรรมที่เราสอนทะลุปรุโปร่ง ถ้าหากเราเน้นที่ลักษณะทางพฤติกรรมของคุณธรรม เราจะเห็นว่าคุณธรรมและแบบอย่างที่ดีงามมีความสัมพันธ์กันมาก จนอาจทำให้เข้าใจว่าคุณธรรมคือแบบอย่างที่ดีงาม ในกรณีเช่นนี้ เราควรสอนคุณธรรมด้วยการทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนสร้างแบบอย่างที่ดีงาม โดยนำคำสอนในศาสนาหรือจากประวัติคนดีมีประโยชน์มาใช้เป็นพื้นฐาน ถ้าหากเราเชื่อว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ในรูปของนิสัยที่ดีงาม เราคงต้องสอนคุณธรรมด้วยการฝึกฝนนักเรียนให้เป็นคนมีระเบียบวินัยเพื่อจะได้มีนิสัยที่ดีงามติดตัว เราอาจรวมทั้ง ๓ วิธีนี้เข้าด้วยกันได้ ส่วนจะเน้นที่ลักษณะใดของคุณธรรมโดยเฉพาะนั้น คงจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

    อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะสอนคุณธรรมด้วยวิธีไหนเราคงต้องยอมรับว่าในการสอนคุณธรรม ครูมีบทบาทสำคัญมาก และในการทำตัวให้เหมาะสมแก่บทบาทนี้ ครูจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่สอนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง มีความสามารถในการสอน พร้อมทั้งเป็นคนมีระเบียบวินัย นิสัยและความประพฤติดีงามควบคู่ไปด้วย

(๔)การสอนด้วยกรรมฐาน
    วิธีการสอนคุณธรรมอีกวิธีหนึ่ง ที่หลวงพ่อนิยมใช้เสมอ คือการสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐาน เพราะเชื่อว่ากรรมฐานสามารถเปลี่ยนจิตใจและพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติให้ดีงามได้ ประโยชน์มากที่สุดของกรรมฐาน คือสามารถเปลี่ยนสภาวะของจิตใจจากจิตของปุถุชนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ให้เป็นจิตของอริยบุคคลที่ใสสว่างและสะอาดบริสุทธิ์ได้ ประโยชน์น้อยที่สุดของกรรมฐานคือ สามารถทำให้จิตใจสงบเป็นครั้งคราวได้ เมื่อจิตสงบความคิดในทางอกุศลและการกระทำที่ไม่ดีงามจะไม่เกิดขึ้น เห็นจะเป็นเพราะประโยชน์ทั้งสองประการของกรรมฐาน โรงเรียนต่าง ๆ จึงนิยมส่งเสริมให้นักเรียนไปเข้ากรรมฐานตามวัดต่าง ๆ และโรงเรียนบางแห่งจัด “ห้องจริยธรรม” ไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนฝึกจิต บางโรงเรียนถึงกับจัดให้การเข้า “ค่ายจริยธรรม” เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตรไปก็มี

    การเน้นการฝึกจิตนี้เป็นไปตามความเชื่อของชาวพุทธที่ว่า จิตเป็นที่มาของความดีความงามและ/หรือความเลวร้ายต่าง ๆ ดังนั้นถ้าหากต้องการให้คนเป็นคนดี เราต้องให้ผู้นั้นมีจิตใจที่ดีงามก่อน ไม่มีวิธีสอนคุณธรรมวิธีใดที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจได้มากเท่ากรรมฐาน เพราะกรรมฐานเป็นวิธีพัฒนาจิตโดยตรง

    หนังสือชุดกฎแห่งกรรม ที่หลวงพ่อจัดทำขึ้นมาทุกปีในตอนหนึ่งของหนังสือชุดนี้ ผู้ปฏิบัติหลายคนได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับสภาวะจิตใจและพฤติกรรมของตนทีได้เปลี่ยนไปเพราะกรรมฐาน การเป็นคนใฝ่รู้ แสวงหาความจริง ทำให้หลวงพ่อจดบันทึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้นตัวผู้ปฏิบัติที่ท่านรู้จักหรือสังเกตเห็นไว้หลายกรณี เรื่องเล่าและบันทึกดังกล่าว ช่วยให้เราพอจะมองเห็นผลของการปฏิบัติกรรมฐาน ที่มีต่อชีวิตทางจริยธรรมของผู้ปฏิบัติได้บ้างแต่ส่วนการที่จะรู้ว่าผลดังกล่าวมีมากน้อยหรือยาวนานแค่ไหนนั้นจะต้องมีการศึกษาวิจัยกันให้จริงจังกว่านี้ เช่นมีการติดตามดูพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติอย่างน้อยที่สุดเป็นเวลา ๑ ปี ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดบ้างหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงนี้มีความคงทนแค่ไหน

    บันทึกของหลวงพ่อให้ข้อสังเกตุอย่างหนึ่งที่ควรคิดกล่าวคือ การสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐาน เป็นวิธีการสอนที่เน้นปฏิบัติมากกว่าคำอธิบาย ในนัยนี้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจะเรียนรู้เรื่องคุณธรรมด้วยสติปัญญาของตนเองมากว่าจากคำสอนของครู ยกตัวอย่างเช่นคุณธรรมของพุทธศาสนาเรื่องความเมตตาและการให้อภัยหลวงพ่อตระหนักดีว่าคุณธรรมทั้งสองประการนี้เป็นเรื่องที่สอนได้ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่นักเรียนได้ความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างสาหัสจากการกระทำโดยเจตนาของผู้อื่น ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ได้เทศน์สั่งสอนนักเรียนผู้นั้นให้มีความเมตตาต่อศัตรู และให้รู้จักให้อภัยคนที่เคยทำร้ายตนในอดีต แต่หลวงพ่อกลับให้ผู้นั้นไปเข้ากรรมฐานแทน เพื่อจะได้เกิดปัญญารู้แจ้งถึงธรรมชาติของคุณธรรมทั้งสองด้วยตัวของตนเอง

    บันทึกของหลวงพ่อกล่าวถึงเด็กหญิงผู้หนึ่งที่มาเข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวัน เด็กหญิงคนนี้เกลียดชังบิดาของตนมาก จนถึงกับไม่ยอมพบเห็นหรือพูดถึง ทุกครั้งที่นึกถึงสิ่งเลวร้ายที่บิดาทำแก่ตน ความโกรธและความเกลียดจะมีมากขึ้น เด็กหญิงผู้นี้พยายามทำตามพระธรรมคำสอนเรื่องความเมตตาและการให้อภัยเพื่อจะได้ไม่เกลียดและโกรธบิดาของตนมากเช่นนั้น แต่ไม่สำเร็จ เพราะความโกรธ ความเกลียดมีปริมาณมากและติดตามตนไปทุกหนทุกแห่ง ทำให้ตนมีความทุกข์ทรมานมาก หลวงพ่อให้เด็กหญิงผู้นี้เข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยให้ปฏิบัติเมตตาภาวนาเป็นสำคัญ พร้อมกับสอนให้รู้จักแผ่เมตตาให้บิดาตนควบคู่กันไป

    กรรมฐานทำให้จิตใจสงบลงทีละน้อย จนเด็กหญิงคนนี้สามารถมองดูความโกรธและความเกลียดที่อยู่ในจิตใจได้เต็มตา ทำให้มองเห็นธรรมชาติแท้จริงของอารมณ์อกุศลทั้งสอง ว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นอันตรายแก่ตัวเองมากเพียงใด จึงรู้สึกเสียใจที่ทำตัวเป็นคนโง่ ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในอำนาจของความโกรธและความเกลียดเป็นเวลานาน จิตที่สงบทำให้ตนเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนคติที่มีต่อบิดาของตนใหม่สามารถมองดูบิดาตามสภาพความเป็นจริง ไม่ได้มองตามความคิด ความเชื่อและความรู้สึกของตนอย่างเดียวเช่นในสมัยก่อน ทำให้รู้ว่าบิดาไม่ได้เป็นคนเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีทั้งความดีและความเลวอยู่ในตัวเหมือนคนทั่วไป เมื่อหวนนึกคิดตัวเองก็ตระหนักว่าตัวเองก็เป็นปุถุชนเหมือนกัน การที่ตนยังไม่ได้ทำอะไรผิด มิได้หมายความว่าตนจะไม่ทำอะไรผิดเลยในชีวิต วันหนึ่งตนเองอาจทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้เช่นกันหรือมากกว่าที่บิดาทำแก่ตัว ปัญญาหรือการมองเห็นการเปราะบางทางจริยธรรมของมนุษย์ ทำให้เด็กหญิงคนนี้ร้องไห้ออกมาด้วยความสำนึกผิดและตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่มองดูบิดาของตนในแง่ร้ายอีกต่อไป ดังนั้นจึงไปขอขมาบิดาตามคำแนะนำของหลวงพ่อ และเมื่อพบเห็นบิดาที่เป็นคนชราอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ ก็ยิ่งมีความเมตตาบิดามากขึ้นจนยอมย้ายบ้านมาอยู่ดูแลบิดาที่เคยทำร้ายจิตใจตนอย่างแสนสาหัส

    กรณีของเด็กหญิงผู้นี้เป็นตัวอย่างของการสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐาน กรรมฐานทำให้จิตสงบและเกิดปัญญา ปัญญาบอกให้เด็กหญิงผู้นั้นรู้เอง ว่าอะไรผิดอะไรถูก โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องชี้ให้เห็น การสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐานกับการสอนด้วยการสนทนาโต้ตอบมีเป้าหมายเหมือนกัน คือให้เกิดปัญญาขึ้นในตัวนักเรียน ปัญญาที่เกิดขึ้นจากกรรมฐานมีที่มาแตกต่างจากปัญญาที่เกิดจากการสนทนาโต้ตอบ ปัญญาในกรรมฐานเป็นผลจากการที่นักเรียนเพ่งพินิจพิจารณาจิตของตนคนเดียว ในขณะที่ในการสนทนาโต้ตอบ ปัญญาเกิดจากการที่ครูและนักเรียนค้นหาความด้วยกัน

    ชาวพุทธเชื่อว่าปัญญาที่เกิดจากกรรมฐานนั้น มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันมาก เพราะทำให้เรามองเห็นธรรมชาติของสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความเป็นจริง เช่นมองเห็นไตรลักษณ์ของนาม-รูปของตัวเอง และของศัตรูทำให้รู้ว่าทั้งตัวเราและศัตรู ต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกัน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ และอยู่ใต้กฎแห่งกรรมเหมือนกัน ถึงแม้เราจะไม่ทำอะไรแก่ศัตรูเลย ผู้นั้นก็จะต้องชดใช้กรรมที่ทำไว้แก่เราอยู่ดีตามกฎแห่งกรรม การให้อภัยผู้นั้นนอกจากจะทำให้เรามีความสุขในปัจจุบันแล้ว (เพราะทำให้เราตัดขาดจากอดีตได้เด็ดขาด) เมื่อเราตายไป การให้อภัยศัตรูยังช่วยให้เราเกิดในภพภูมิที่ดีด้วย นอกจากนั้นการให้อภัยยังเป็นการช่วยเหลือศัตรูที่ทำร้ายเราให้มีความทุกข์จากอกุศลกรรมที่ได้ทำแก่เราน้อยลงหรือไม่ต้องรับกรรมนั้นเต็มที่

    ประสบการณ์ที่ผู้เข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวันเล่าไว้ในหนังสือชุด กฎแห่งกรรม ย้ำให้เห็นว่าการสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐานสามารถปรับเปลี่ยนจิตใจ นิสัยและพฤติกรรมได้แน่นอน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ในบางกรณีเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นจากการเป็นคนใจร้อนมาเป็นคนใจเย็นเป็นครั้งคราว ในบางรายที่ปฏิบัติกรรมฐานสม่ำเสมอ การเปลี่ยนแปลงนั้นมีลักษณะแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นจากการเป็นคนโหดร้ายมาเป็นคนมีจิตใจเมตตาตลอดไป เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การสอนคุณธรรมด้วยกรรมฐานเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกรรมฐานทำให้เกิดปัญญาที่รู้ความจริง (รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี) และนิสัยดีงาม (เช่นการควบคุมตัวเอง การเป็นคนมีความเมตตา) โดยยึด พระธรรมเป็นแนวทางดำเนินชีวิตและยึดพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์เป็นตัวอย่าง

    การสอนคุณธรรมทั้งสี่วิธี ที่ได้ความคิดมาจากวิธีการที่หลวงพ่อใช้เสกคนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมนั้น สอดคล้องกับความจริงในชีวิตที่พบเห็น คนเรามักจะได้คุณธรรมมาจากการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา รู้ว่าอะไรดีหรืออะไรไม่ดี จากการมีผู้ส่งเสริมให้กำลังใจ จากการเลียนแบบอย่างที่ดีงามจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบ จากการมีนิสัยดีงามและจากการฝึกจิต

    อย่างไรก็ตามเราคงต้องยอมรับว่าในบางกรณี คนเราสามารถมีคุณธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ เช่นเป็นคนดีมีคุณธรรมได้เอง (เพราะไม่ต้องการทำบาป) โดยไม่รู้ว่าคุณสมบัติดีงามที่มีอยู่ในจิตใจคือ “คุณธรรม” ของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธอธิบายคุณธรรมที่คนได้มาโดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ ว่า เป็นผลจากการบำเพ็ญเพียรของผู้นั้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน (หรือที่ชอบพูดกันว่า “หลายชาติ”) และเรียกคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวคนหนึ่งคนใดมาแต่เกิดว่าเป็น “บารมีเก่า” ที่ติดตัวมา พร้อมทั้งอธิบายว่าการทำความดีของบุคคลประเภทนี้ในปัจจุบัน เช่นการให้ทานและการรักษาศีล เป็นการสร้างบารมี หรือความดีให้สมบูรณ์แบบเช่นพระโพธิสัตว์

    ในกรณีทั่วไปเราคงต้องยอมรับว่า การส่งเสริมและการให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรมได้ง่ายขึ้น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติพี่น้องและเพื่อนใกล้ชิดล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในชีวิตทางจริยธรรมของเด็กและเยาวชนทั้งนั้น ตลอดจนคนสำคัญเช่นผู้ปกครองและพระสงฆ์

    การส่งเสริมคนดีมีคุณธรรม ที่สำคัญคือการที่สังคมยอมรับและยกย่องคนดี และช่วยทำนุบำรุงคนดีให้อยู่ในสังคมได้ด้วยความสุข (คนดีจะได้ไม่เป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ) ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นด้วยการช่วยป้องกันไม่ให้คนชั่วมีอำนาจและส่งเสริมให้คนดีได้ทำประโยชน์แก่สังคมในทุกโอกาส เราอาจตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกของความจริงคนดีเหมือนกับต้นไม้ที่เจ้าของจะต้องทำนุบำรุงดูแลเอาใจใส่ต้นไม้จึงจะโตและออกดอกออกผลได้เต็มที่ ในโลกของสังสารวัฏคนดีจะยืนหยัดอยู่โดยลำพังได้ยาก ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน สังคมต้องส่งเสริมและช่วยเหลือคนดีด้วย คนดีจึงจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมและมวลมนาย์ได้เต็มที่

    หลวงพ่อเป็นกัลยามิตรแก่ทุกคนที่ต้องการหนีความทุกข์หาสุข วัดอัมพวันเป็นสถานที่ร่มรื่นและผ่อนคลายด้วยกระแสเมตตาจากองค์หลวงพ่อ

    สำหรับคนทั่วไปการไปวัดอัมพวันนอกจากจะได้กราบองค์หลวงพ่อแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมสำคัญที่จะทำให้ตนและสังคมมีความสุข ได้เห็นพฤติกรรมเป็นแบบอย่างที่ดีงามจากองค์หลวงพ่อ ได้สร้างนิสัยดีงามให้เกิดขึ้นในตัวด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัด และได้ฝึกจิตจนเกิดปัญญารู้แจ้งในคุณงามความดีแล้ว ยังมีโอกาสได้สร้างกุศลให้แก่ตัวเองด้วยการทำบุญทำทาน สำหรับเป็นเสมือนเสบียงติดตัวไปหลังความตายด้วย

    ด้วยเหตุนี้การไปวัดอัมพวันจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน และไม่ใช่ทุกคนจะไปวัดอัมพวันได้ หลวงพ่อกล่าวตลอดเวลาว่า ผู้ที่สามารถไปวัดอัมพวันได้ จะต้องมีบุญกุศลเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่บ้างแล้ว คนมีจิตใจที่เป็นโทษจะไม่ไปวัดอัมพวันและจะไปทำบุญทำทานอะไรก็ไม่ได้ผล เหมือนกับการนำปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ที่ตายแล้ว หลวงพ่อตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ดังนั้นจึงเมตตานำพระธรรมและวิธีปฏิบัติที่เป็นทางสายเอกในพุทธศาสนา มาสอนแก่ผู้มาวัดอัมพวันทุกคน เพื่อเติมบุญกุศลในตัวให้เพิ่มขึ้นจนเต็มเปี่ยม หลวงพ่อได้มอบเครื่องมือสำคัญที่หาได้ยากแก่คนทุกคน ให้นำไปใช้เจียรนัยใจที่หนาทึบด้วยกิเลสตัณหา ให้เป็นใจที่ใสสว่างสะอาดสดใสเป็นประกายด้วยแสงแห่งปัญญาดุจเพ็ชรเม็ดงาม ไม่มีบุญคุณใดจะใหญ่หลวงกว่าการที่หลวงพ่อช่วยเหลือชาวพุทธให้เป็นชาวพุทธแท้ และเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ

    ความทุกข์นั้นได้ผูกพันอยู่กับชีวิตของคนเราตั้งตั้งเกิด จนกระทั่งตาย เหตุที่ชักนำให้เกิดความทุกข์นั้น ได้แก่ตัณหา เมื่อดับตัณหาซึ่งเป็นเหตุเสียแล้ว ทุกข์ซึ่งเป็นผลย่อมดับไปตาม เพราะว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน-ความเข้าไปยึดถือเบญจขันธ์ว่าเป็นตัวตน อันเป็นจุดอุบัติของทุกข์ทั้งปวง ดังนั้น เมื่อตัณหาดับอุปาทานก็ดับไปตาม เมื่อความเข้าไปยึดถือเบญจขันธ์ถูกถอนไปได้สิ้นเชิงแล้ว ความทุกข์ก็เป็นอันถูกถอนไปด้วย ในขณะเดียวกัน เบญจขันธ์ที่ดำรงอยู่ก็จะเป็นแต่สักว่า เบญจขันธ์ที่แปรเปลี่ยน จะเสื่อมจะแตกทำลายไปอย่างไร ก็ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ใคร เพราะไม่มีใครเข้ายึดถือมันเสียแล้ว

จาก “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”
โดย พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)
แต่งเมื่อปี ๒๕๑๕ ขณะดำรงสมณศักดิ์ พระครูภาวนาวิสุทธิ์

________________

 

 

    การปฏิบัติ (โดยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) นั้นจะได้รับผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับพลังของอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของผู้ปฏิบัติแต่ละคน ถึงมาตรว่าจะไม่ได้รับผลชั้นสูงก็ย่อมจะได้รับผลตามส่วนตามลำดับกัน ผู้ปฏิบัติจะตระหนักได้เองจากการเปรียบเทียบดูจิตใจของเขาในระหว่างสองวาระ คือจิตใจก่อนหน้าการปฏิบัติและจิตใจหลังการปฏิบัติ

    การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของการวิจารณ์ตัวเอง วิเคราะห์ตัวเอง สำรวจดูบาปอกุศลในตัวเอง ด้วยการเพ่งพินิจอันแน่วแน่ลึกซึ้งเป็นการค้นดูผงในดวงตาของตน หยุดการแส่ไปเที่ยวติเตียนผงในดวงตาของผู้อื่นในขณะที่ไม้ทั้งท่อนปรากฏอยู่ในดวงตาของเรา คุณธรรมใดที่จะพึงบรรลุได้จากการปฏิบัติย่อมเป็นไปในทางเป็นข้าศึกต่อมานะคือความถือตัวทะนงตัว และจะยังผู้ปฏิบัติให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบเสงี่ยม

จาก “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”
โดย พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)
แต่งเมื่อปี ๒๕๑๕ ขณะดำรงสมณศักดิ์ พระครูภาวนาวิสุทธิ์

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›