๑๓/๒๓ สนทนาธรรมกับ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา

รศ.ดร. พินิจ รัตนกุล

 

    ชาวต่างประเทศอีกผู้หนึ่งที่หลวงพ่อเมตตาอธิบายคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เป็นกรณีพิเศษ คือ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ และภรรยา ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยา และสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และมาช่วยสอนที่ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่นักวิชาการชาวตะวันตกเขียนไว้หลายเล่ม และมีข้อสงสัยหลายประการ เมื่อมีโอกาสได้พบหลวงพ่อ จึงขอคำอธิบายจากท่าน

    เรื่องแรกที่ศาสตราจารย์ผู้นี้สงสัยคือ เขาสังเกตเห็นว่าเวลาที่หลวงพ่อสอนญาติโยมทั้งหลาย ท่านมีกิริยาท่าทางคล่องแคล่ว กล้าหาญ และมีกำลังวังชาเยี่ยงนักรบ เขาจึงสงสัยว่าก่อนที่หลวงพ่อจะบวชนั้น ท่านเคยเป็นทหาร หรือเป็นผู้ฝึกทหารหรือไม่ หลวงพ่อตอบว่าอดีตของท่านนั้นมีประวัติยาวนาน ที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมทั้ง หลายฟังแล้ว แต่ไม่ต้องการจะเล่าซ้ำอีก เพราะเป็นเรื่องที่ศาสตราจารย์ผู้นี้จะเข้าใจได้ยาก เนื่องจากไม่ได้เป็นชาวพุทธ ทั้งไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งโดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม การขาดความรู้ในเรื่องนี้อาจทำให้เขามองดูเรื่องราวของหลวงพ่อ ที่เป็นแม่ทัพในอดีตชาติว่าเป็นเรื่องเหลวไหลได้ ท่านต้องการที่จะพูดคุยกับเขาเฉพาะในเรื่องที่เขาจะเข้าใจได้เท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ท่านจึงไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวอย่างละเอียด เพียงแต่พูดว่าเคยเป็นทหารมา และเวลานี้ ดาบที่เคยใช้ก็เก็บไว้ที่วัดอัมพวันแห่งนี้ อย่างไรก็ตามหลวงพ่อได้กล่าวชมดร.สจ๊วตท์ ว่าเป็นคนช่างสังเกต สมกับที่เป็นนักวิชาการ ความเป็นคนช่างสังเกตนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้รักความรู้ การสังเกตจะทำให้เกิดความสงสัย และความต้องการที่จะเข้าใจสาเหตุต่างๆ ความต้องการนี้เป็นบ่อเกิดของความรู้ต่างๆ ของมนุษย์ ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสังเกตลักษณะต่างๆ ที่ไม่น่าชื่นชมของชีวิตมนุษย์แล้ว พระองค์ก็คงจะไม่เสด็จบรรพชา และพระพุทธศาสนาก็คงจะไม่อุบัติขึ้น

    คำถามต่อมาที่ ดร.สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อคือ หนังสือที่เขาอ่านเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มักจะเน้นว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่ตัดตัวเองออกจากสังคมที่อยู่ และแสวงหาความวิเวกโดยลำพัง ไม่สนใจสุขทุกข์ของชาวโลก แต่เขาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อมีภารกิจทางสังคมมาก เพราะนอกจากจะอบรมสั่งสอนเยาวชน และศาสนิกชนแล้ว ท่านยังได้จัดทำโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนอีกด้วย

    หลวงพ่ออธิบายว่า หนังสือที่ ดร. สจ๊วตท์ อ่านนั้น ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความจริงแล้วพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสสอนให้พระสงฆ์ทิ้งสังคม และโลกที่อยู่เพื่อเอาตัวรอด แต่ทรงเน้นให้พระสงฆ์ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้ แก่สังคม ดังเห็นได้จากการที่ทรงเตือนให้พระสาวกที่พระองค์ทรงส่งไปเผยแผ่พระศาสนานั้น เดินทางไปสถานที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นวิธีการหนึ่งที่จะชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสตัณหาต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง การช่วยเหลือด้วยวิธีนี้จะยังประโยชน์อย่างมากให้แก่สังคม เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว ไม่มีประโยชน์ตน ปะปนอยู่เลย

    ต่อจากนั้นหลวงพ่อได้อธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อถือเป็นภาระหน้าที่ตลอดชีวิตที่จะช่วย เหลือสังคมไทย ก็คือ หลังจากหลวงพ่อรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งสำคัญที่สุดแล้ว ท่านก็ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ดังนั้นจึงได้อุทิศตนเพื่อพัฒนาคนอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การอบรม สั่งสอนชาวพุทธ ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม และจริยธรรมไม่หลงผิด การนำปัจจัยที่ได้รับบริจาคไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ตามท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้ดีขึ้น สำหรับที่ วัดอัมพวันนั้น นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมข้าราชการของหน่วยงานต่างๆ แล้ว ยังมีอาหารไว้บริการแก่ทุกคน และมีที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน สำหรับเงินที่ใช้ในกิจการต่างๆ เหล่านี้ เป็นเงินที่ท่านได้รับจากการบริจาคทั้งนั้น

    อนึ่งในการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลต่างๆ นั้น หลวงพ่อไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศาสนิกชนของศาสนาอื่น เช่น ชาวมุสลิม และชาวคริสต์ด้วย การให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลเหล่านี้ ท่านมิได้ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนามาเป็นชาวพุทธ ท่านต้องการให้พวกเขาเป็นชาวมุสลิม หรือชาวคริสต์ที่ดี คนดีไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม ย่อมเป็นคนมีประโยชน์ และเป็นที่ต้องการของสังคม

    ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวเสริมว่า การกระทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อมีจิตใจกว้างขวางโอบอ้อมอารี นับว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง เขาสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมาพบท่านจำนวนมากมาย และท่านก็ต้อนรับ และพูดคุยกับคนทุกคนโดยไม่แสดงท่าทางอิดหนาระอาใจ หรือเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด นอกจากนั้นเขายังอยากทราบว่าท่านนำพลังมาจากไหน จึงสามารถทำงานกิจการงานต่างๆ ได้สำเร็จไม่ขาดตกบกพร่อง

    หลวงพ่อตอบว่า การพักผ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นการนอนเท่านั้น ท่านมีวิธีพักผ่อนอยู่หลายวิธี วิธีที่ใช้อยู่เสมอคือ การปฏิบัติกรรมฐาน คือการให้จิตอยู่ในสมาธิไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จิตที่อยู่ในสมาธิเป็นจิตที่สงบ และมีพลังมาก

    ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวว่า เขาได้ศึกษาทฤษฎีจิตวิทยาเกี่ยวกับสมาธิมาบ้าง แต่เพิ่งจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากชีวิตการงานของท่าน สำหรับเขา การให้จิตอยู่ในสมาธิตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งยากลำบาก ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น เขาจึงชื่นชอบในหลวงพ่อมาก และดีใจที่หลวงพ่อได้เมตตาฝึกสอนผู้คนให้มีพลังจิตเข้มแข็ง และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

    คำถามอีกข้อหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อ คือ หลวงพ่อมีความเห็นเช่นไร เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในสมัยโลกาภิวัตน์

    หลวงพ่อตอบว่า เมื่อมองดูสังคมมนุษย์เวลานี้รู้สึกเป็นห่วง เพราะคนในสังคมหลงใหลในวัตถุนิยมมาก จนปล่อยให้วัตถุมามีอำนาจเหนือชีวิตตน ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้ว ว่าวัตถุนิยมไม่สามารถให้ความสุขแก่มนุษย์ได้ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกสังคมกำลังประสบอยู่ ชี้ให้เห็นอันตรายของวัตถุนิยม ถ้าหากมนุษย์เรายังคงยึดถือวัตถุนิยมเป็นสรณะ โลกก็คงจะถึงกาลอวสานในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน และนั่นหมายถึงจุดจบของมนุษยชาติ ท่านไม่เชื่อว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ เราจะอาศัยเทคโนโลยีสมัย ใหม่ แก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีแต่ละอย่าง ต่างก็สร้างปัญหาใหม่แทนที่ หรือเพิ่มจากปัญหาเก่า เราจำเป็นต้องนำวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “พุทโธโลยี” มาใช้จัดการกับวิกฤตทางสังคม และสิ่งแวดล้อม พระพุทธศาสนาเป็นระบบความรู้กว้างขวางมาก หลักธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้ง และครอบคลุมทุกเรื่อง ถ้าหากเรานำพุทโธโลยีมาใช้ให้เต็มที่ สถานการณ์ปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไป ประโยชน์ของพุทโธโลยีมองเห็นได้ง่าย คือกรณีที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจของคน หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับคนที่มีกลิ่นตัวเหม็น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะจิตใจไม่ปกติ ในกรณีนี้การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นส่วนของพุทโธโลยี สามารถช่วยให้คนผู้นี้ค้นพบความผิดปกติดังกล่าวด้วยตนเอง คือเมื่อจิตของผู้นั้นสงบ เขาสามารถขุดลงไปในส่วนลึกของจิตตัวเองได้ และรู้ถึงสาเหตุทางจิตใจที่ทำให้ตนมีกลิ่นตัวเหม็น และในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิธีที่จะใช้บำบัด รักษาให้จิตของตนกลับคืนมาสู่สภาวะปกติไม่มีความเกลียดอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าตัวอย่างดังกล่าว เป็นเรื่องง่ายไม่สลับซับซ้อน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหลักธรรม และการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา สามารถนำไปใช้บำบัดรักษาทางจิตได้ พุทธศาสนาสอนว่าจิตเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ทั้งทางกาย และทางสังคมสิ่งแวดล้อม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราควรพิจารณาสภาวะของจิตตัวเองก่อน ในเรื่องของความซึมเศร้านั้น การปฏิบัติกรรมฐานจะทำให้ดวงจิตของผู้ปฏิบัติสงบมีสติ และมีจุดสนใจอยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้จิตใจไม่มีความพัวพัน หรือผูกติดกับอดีต ดังนั้นจึงสามารถมองดูอดีตได้ ราวกับว่าไม่ได้เป็นอดีตของตน สิ่งนี้ทำให้เขามองเห็น และยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองในสภาพความเป็นจริง โดยไม่เศร้าโศกเสียใจ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนได้ ก็จะสามารถทำได้ถ้าหากปฏิบัติกรรมฐาน

    ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ยอมรับว่า จิตใจ และร่างกายมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจิตใจที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติจึงมีผลต่อการแสดงออกทางร่างกาย เช่นในกรณีของกลิ่นตัวที่หลวงพ่อยกมาเป็นตัวอย่าง และบอกว่าวิธีการบำบัดรักษาทางจิตที่หลวงพ่อยกตัวอย่างนั้นเป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจมาก และเขาจะพยายามศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานให้ลึกซึ้งขึ้น ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ มีปัญหาจะถามหลวงพ่อเกี่ยวกับพุทโธโลยีอีกหลายข้อ แต่เมื่อทราบว่ามีผู้รอพบหลวงพ่ออีกจำนวนมาก จึงยุติ และนมัสการลา ก่อนที่จะจากกัน หลวงพ่อได้กล่าวว่า การที่ศาสตราจารย์ผู้นี้ และภรรยาใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศของตน และในต่างประเทศ โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนนั้น เป็นการกระทำของคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ความสุขที่ลึกซึ้งไม่ได้เกิดจากการไขว่คว้าสิ่งต่างๆ มาเป็นสมบัติของตน แต่เกิดจากการให้ และการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น อาชีพครู และอาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้คนเรามุ่งหาความสุขในทางนี้

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›