๒๒/๒ การบริหารจิต

พระธรรมสิงหบุราจารย์

 

    คนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษาหรือใครก็ตาม ย่อมเรียนหนังสือได้ดี หรือสามารถทำงานได้มากและได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง ทั้งสามารถเข้ากับเพื่อนๆ และช่วยสังคมได้ดี เพราะคนมีสุขภาพจิตดีย่อมมีความสุขและความสำเร็จในชีวิตมากกว่าผู้ที่มีจิตเสื่อมและอ่อนแอเช่นเดียวกับผู้ที่กำลังกายสมบูรณ์แข็งแรงย่อมมีความสุขและความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าคนที่มีร่างกายอ่อนแอและเป็นโรค

    ร่างกายจะแข็งแรงและมีพลานามัยดีได้นั้น ก็เพราะเจ้าของกายรู้จักรักษาสุขภาพของตน เช่น ออกกำลังกาย รู้จักบริหารกาย รู้จักบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอและได้อากาสบริสุทธิ์ ข้อนี้ฉันใด จิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน จะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ ก็เพราะเจ้าของรู้จักบริหารจิตของตน โดยฝึกฝนอารมณ์ด้วยวิธีอันถูกต้อง

    การบริหารจิต ก็คือการรักษาคุ้มครองจิต การฝึกฝนอบรมจิต หรือการทำจิตให้สงบ ให้สะอาดปราศจากความวุ่นวายเดือดร้อน ให้เข้มแข็ง ให้มีสุขภาพจิตดี และให้นำมาใช้ปฏิบัติงานได้ดี พูดง่ายๆ ก็คือ “การพัฒนาจิต” นั้นเอง

    ประเทศชาติที่ได้การบริหารดี ได้รับการพัฒนาดีแล้ว ย่อมเป็นประเทศที่รุ่งเรือง ประชาชนในประเทศนั้นย่อมอยู่ดีกินดีมีความสงบสุขได้ฉันใด จิตที่บริหารดีแล้วพัฒนาดีแล้วก็ฉันนั้น คือ ย่อมรับความเกษมและสงบสุข

    ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ ความสุขทางกาย และความสุขทางใจ

    ความสุขทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยกันและกัน คือ ถ้ากายเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วย หรือถ้าใจเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้กายเป็นสุขด้วย เช่นเดียวกับเรื่องของความทุกข์ เพราะกายกับจิต หรือรูปกับนามมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้งสองอย่างนี้ แต่ก็ยกย่องจิตว่าประเสริฐกว่ากาย เพราะกายรวมทั้งสมอง เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของจิต จิตเป็นผู้นำ ดังพุทธสุภาษิตว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา” ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า

การฝึกจิตบริหารจิตนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตมาก
    ๑.ถ้าเป็นนักเรียน-นักศึกษา ก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น ได้คะแนนสูง เพราะจิตใจสงบจึงทำให้มีความจำแม่นยำขึ้นกว่าแต่ก่อน
    ๒.ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยผิดพลาด เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น
    ๓.สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ
    ๔.ทำให้โรคภัยไข้เจ็บเบาบางหรือหายไปได้
    ๕.ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน
    ๖.ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เช่นอยู่ในโรงเรียนก็ทำให้เพื่อนๆ และครูพลอยได้รับความสุขไปด้วย เป็นต้น
    ๗.สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างใจเย็น รวมทั้งสามารถแก้ไขความยุ่งยากและความเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตได้ด้วยวิธีอันถูกต้อง
    ๘.สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตลงได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เบาบางลงได้
    ๙.ถ้าทำได้ถึงขั้นสูงก็ย่อมได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และอาจจะได้อำนาจจิตพิเศษ เช่น รู้ใจคนอื่น เป็นต้น

ประโยชน์ของการบริหารจิต
    คำว่า ประโยชน์ หมายถึง สิ่งที่ดีที่ถูกและที่ควรสิ่งใดก็ตามเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควร สิ่งนั้นเรียกว่าสิ่งมีประโยชน์ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นการกระทำที่ดีที่ถูกที่ควร การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ คำพูดใดเป็นคำพูดที่ดีที่ถูกที่ควร คำพูดนั้นเป็นคำพูดมีประโยชน์ ความคิดใดเป็นความคิดที่ดีที่ถูกที่ควร ความคิดนั้นเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์

    ในทางตรงกันข้าม สิ่งใดก็ตาม การกระทำใดก็ตาม คำพูดใดก็ตาม ความคิดใดก็ตาม เป็นไปในทางไม่ดีไม่ถูกไม่ควร เป็นต้น สิ่งนั้นเรียกว่าไร้ประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

    สิ่งของบางอย่างมีประโยชน์มากเมื่อนำไปใช้ในทางที่ดีที่ถูกที่ควร แต่นำไปใช้ในทางที่ไม่ดีไม่ถูกไม่ควรก็มีโทษมหาศาล

    คำว่า “การบริหาร”หมายถึง กระบวนการฝึกอบรม แนะนำ สั่งสอน ตักเตือน ตัวอย่างเช่น บริหารตน คน เวลา เงิน เป็นต้น ตลอดจนถึงบริหารบ้านเมือง ผู้บริหารต้องรู้เรื่องที่บริหาร รู้หลักการบริหารรู้ประโยชน์ของการบริหาร ตลอดถึงรู้จักปรับปรุงยืดหยุ่นการบริหาร เช่น การบริหารตนต้องมีหลักธรรม โดยนิยมหลักคือพระบรมราโชวาท 4 เป็นต้น การบริหารบ้านเมืองต้องอาศัยหลักการปกครอง หลักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

    คำว่า “จิต” นี้เข้าใจยากหน่อย เป็นธรรมชาตินึกคิดและรับอารมณ์ มีหลายชื่อ เช่น วิญญาณ มโน มนัส หทัย
คนเราเกิดมาทุกคนมีขันธ์ 5 ด้วยกันทั้งนั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    รูป หมายถึง สิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ เคลื่อนไหวไปมาได้ ยืน เดิน นั่ง นอนได้ รูปนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาย

    ส่วนเวทนา ความรู้สึก สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงแต่ง วิญญาณ ความรับรู้ ส่วนเหล่านี้เรียกว่าจิต
รวมทั้งสองอย่างเรียกว่า “กาย กับ จิต”

    คนเราทุกคนต้องมีกายและต้องมีจิต ใครไม่มีทั้งสองอย่างนี้ไม่เรียกว่าคน คำว่าคนในที่นี้ หมายถึง ต้องมีกายกับจิต กายมองเห็นได้ง่าย จิตมองเห็นได้ยาก แม้คำว่าสมองก็รวมลงในกาย

คำว่าจิตมีลักษณะต้องสังเกตจึงรู้ได้ ท่านกล่าวลักษณะอาการของจิตไว้ดังนี้
    ๑.ดิ้นรน คือ รับรู้อารมณ์ มีรูปและเสียง เป็นต้น
    ๒.กวัดแกว่ง คือ ไม่หยุดอยู่กับที่คืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    ๓.รักษายาก คือ บังคับให้อยู่กับที่ได้ยาก
    ๔.ห้ามยาก คือ ป้องกันมิให้คิดได้ยาก
    ๕.ข่มยาก คือ ฝึกได้ยาก ไม่ค่อยยอมให้ฝึก
    ๖.ไปเร็ว คือ เกิดดับเร็ว ต้องค่อยจับค่อยกำหนดจึงรู้
    ๗.ไปตามอารมณ์ คือ ชอบเรื่องใดคิดเรื่องนั้น ไม่ชอบเรื่องใดก็คิดถึงเรื่องนั้น
    ๘.ไปได้ไกล คือ รับอารมณ์ในที่ไกลๆ ยากจะดึงกลับมาให้อยู่กับที่ได้
    ๙.อยู่ผู้เดียว คือ เกิดกับแต่ละวาระ
    ๑๐.ไม่มีรูปร่าง คือ ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีสัณฐาน
    ๑๑.มีที่อยู่คือถ้ำ คือ ที่อยู่ในกายของเรานี้

    การบริหารเพื่อให้กายแข็งแรง ต้องเคลื่อนไหว ต้องออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน ยืน นั่ง นอน ทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพกายดี

    ส่วนการบริหารจิต เป็นการฝึกจิตให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทางศาสนาเรียกว่ามีอารมณ์เดียว บังคับไม่ให้ดิ้นรน กวัดแกว่ง ทำให้ความคิดอยู่กับที่นานๆ ทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ

    วิธีการฝึกคือให้กำหนดรู้ลมหายใจ ลมหายใจเข้า-ออก ยาวหรือสั้นให้กำหนดรู้ เพราะมีลมหายใจด้วยกันทุกคน
ฝึกฝนทำอย่างนี้บ่อยๆ นานเข้ามีความชำนาญแล้วจะเป็นจิตบริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส มีความตั้งมั่นไม่คลอนแคลน เกิดความพร้อม คือพร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา ทางศาสนาเรียกว่า
    ๑.ปริสุทธะ คือ จิตบริสุทธิ์
    ๒.สมาหิตะ คือ จิตตั้งมั่น
    ๓.กัมมนียะ คือ จิตมีความพร้อม

    ประโยชน์ของการบริหารจิต ทำให้เกิดความรับผิดชอบขึ้น มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง ทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อโลก เกิดคุณธรรมประจำใจ เช่นบ้านเมืองต้องการให้ประหยัดเพราะน้ำมันแพง ก็ต้องช่วยกันประหยัดทุกรูปแบบ จะมีสติระลึกได้อยู่เสมอ ไม่เป็นคนประมาท ไม่เป็นคนมักได้ ไม่ถือโอกาส

ผู้บริหารจิตดีแล้วย่อมได้รับความสุข ดังนี้
    ๑.ทำให้ผ่อนคลายความเครียด
    ๒.ทำให้เกิดความผ่องใสทั้งกายและจิตใจ มีความสงบเย็น
    ๓.ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียน จำได้เร็ว เข้าใจได้เร็ว
    ๔.ทำให้มีความเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
    ๕.ทำให้มีสติ สมาธิ ปัญญา อยู่กับตัวตลอดเวลา
    ๖.ทำให้มีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอ
    ๗.ทำให้มีจิตตั้งมั่น
    ๘.ทำให้มีปัญญารอบรู้ รู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล ชุมชน
    ๙.ทำให้ตนเองเกิดความมั่นคง
    ๑๐.ช่วยให้สำนึกในหน้าที่ ใครอยู่ในหน้าที่ใดก็ทำหน้าที่นั้นได้สมบูรณ์
    ๑๑.ช่วยให้ไม่ประมาทในชีวิต

    ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย มีบั้นปลายของชีวิตคือความตาย มีความตายเป็นที่สุด มีความตายเป็นที่ไปเบื้องหน้า ขณะที่เราอยู่ก็ขออยู่ให้สังคมพอใจ ขณะที่เราไปก็ขอให้สังคมคิดถึง

จิตฺตํง รกฺเขถ เมธาวี
ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๓

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›