ก๙/๕๕ เมตตาธรรมของหลวงพ่อ ต่อพระธรรมจาริก

อำไพ สุจริตกุล

 

    พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หรือที่ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั้งหลาย ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศเอ่ยถึงด้วยความเคารพและคุ้นเคยว่า “หลวงพ่อจรัญวัดอัมพวัน สิงห์บุรี” เป็นพระอริยสงฆ์ทิ่ฉันเคารพบูชาและศรัทธาอย่างสูงเสมอมาไม่เคยเสื่อมคลาย

    “หลวงพ่อจรัญ” เมื่อ ๓๐ ปีก่อนเป็นเช่นไร ตลอดมาจนบัดนี้ ท่านก็ยังเป็นฉันนั้นไม่ผันแปร มีแต่ เมตตาธรรมและจาคบารมี ยิ่งพูนทวีและแผ่กว้างไกลยิ่งขึ้น แม้จนถึงชาวเขาชาวดอยผู้ด้อยโอกาส พระคุณท่านยังเคยไปเยี่ยมถึงหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งแห่งหนึ่ง ซึ่งรถต้องแล่นไต่ขึ้นดอยอันสูงชันน่าหวาดเสียว กว่าจะถึงจุดหมาย ทำให้หลวงพ่อท่านยิ่งเห็นใจ และสงสารผู้ที่ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนกลุ่มน้อยในแดนทุรกันดาร

    เมื่อดิฉันมากราบเรียนหลวงพ่อ ถึงโครงการพระธรรมจาริกเพื่อพัฒนาจิตใจและคุณภาพชีวิตของชาวเขาและชาวไทยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ จวบจนปัจจุบันนี้ มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ ณ วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระสุนทรพุทธิธาดา เป็นเจ้าอาวาสและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย หลวงพ่อพระประสิทธิ์ ปวฒฺฑโก (อดีตเป็นผู้อำนวยการกองสงเคราะห์ชาวเขาคนแรก และก่อนเกษียณอายุราชการ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์) ทำหน้าที่ประธานฝ่ายการศึกษาของโครงการพระธรรมจาริก มีประสงค์จะเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านการปฏิบัติ แนววิปัสสนากรรมฐานแก่พระธรรมจาริก ซึ่งจะต้องขึ้นไปอยู่ตามอาศรมต่าง ๆ บนดงดอยภาคเหนือ ๑๗ จังหวัด ที่ชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ เช่น กะเหรี่ยง ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ มูเซอ เป็นต้น ในการสอนการอบรมชาวเขาตลอดจนชาวไทยในถิ่นทุรกันดาร ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและคุณธรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาตินั้น เป็นงานที่ยากลำบากยิ่ง พระธรรมจาริกต้องมีความอดทนสูง ทนต่อความหนาวเหน็บ ความอัตคัดขาดแคลนความเจ็บไข้หรือความทุกข์ต่าง ๆ ในดงดอยทุรกันดาร หากพระธรรมจาริกทั้งหลายได้รับการอบรมและฝึกวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ย่อมเข้าใจและมั่นใจในธรรมะของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น และมีกำลังใจในการปฏิบัติงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เข้าถึงจิตใจของผู้ยากไร้ด้อยโอกาสทั้งชาวเขา ชาวเราเหล่านั้น

    เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้รับทราบเหตุผลลายละเอียดดังกล่าว ท่านก็เมตตารับอุปถัมภ์ด้วยความเต็มใจโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระธรรมจาริก เพื่อพัฒนาจิตใจให้เกิดปัญญาและสันติสุข จึงได้อุบัติขึ้น พระธรรมจาริกจากวัดศรีโสดา เชียงใหม่ ก็ได้ทยอยมาศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดอัมพวัน รุ่นละประมาณ ๘๐-๑๕๐ รูป ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๗ จนถึง ๒๑-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เป็นรุ่นที่ ๓ และยังมีรุ่นต่อๆ ไปอีก ด้วยความเมตตากรุณาอย่างสูงของหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล แห่งวัดอัมพวัน สิงห์บุรี

    เมตตาธรรมอันล้ำเลิศของหลวงพ่อมิใช่เพียงสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่พระธรรมจาริกทั้งหลายดังกล่าวเท่านั้น พระคุณท่านยังเมตตา จัดการ สั่งการ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมโครงการนี้ทุกประการ แม้กระทั่งบริจาคปัจจัย พระพุทธรูปบูชา ข้าวสาร เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม จำนวนมากมาย พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยความเมตตาอาทรเป็นที่ซาบซึ้งประทับใจอย่างยิ่งของพระธรรมจาริก ผู้มีวาสนาได้มารับการฝึกอบรมเป็นศิษยานุศิษย์ของพระคุณท่าน รวมทั้งหลวงพ่อประสิทธิ์ ปวฒฺฑโก หัวหน้าโครงการฝ่ายการศึกษา พระเดชพระคุณพระสุนทรพุทธิดา ประธานบริหารโครงการส่วนภูมิภาค ตลอดถึงท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ประธานใหญ่ของโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งพระคุณท่านได้ฝากฝังโครงการนี้ไว้กับหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน ก่อนที่พระเดชพระคุณท่านจะมรณภาพไป

    สำหรับดิฉันนั้นเต็มตื้นด้วยความระลึกรู้ในพระคุณของหลวงพ่อที่เมตตาฝึกอบรมกรรมฐานแก่พระธรรมจาริกทั้ง ๓ รุ่นที่ผ่านไปแล้วนี้ ดิฉันยิ่งสำนึกในน้ำใจอันประเสริฐเปี่ยมล้นด้วยเมตตาบารมีและจาคบารมีของหลวงพ่ออย่างสุดจะเปรียบประมาณ จะขอยกตัวอย่างเพียงรุ่นละเล็กน้อยดังนี้

    รุ่นแรก ระหว่างกลางเดือนมีนาคม ๒๕๓๗ พระธรรมจาริกมาปฏิบัติ ๑๕๐ รูป ดิฉันมารอรับล่วงหน้า เมื่อรถใหญ่ ๓ คันมาส่งถึงวัดตั้งแต่ตี ๕ สำรวจแล้วมาถึงปลายทางไม่ครบ หลวงพ่อมอบให้พระอาจารย์ทองสุข “อู้คำเมืองม่วน” เป็นผู้ฝึกให้ และเมื่อปฏิบัติไปประมาณ ๒-๓ วัน ทนทุกขเวทนาไม่ไหว ทั้งที่เกิดจากสรีระหรือโรคภัย และที่เกิดจากสภาวธรรมตลอดจนขาดความอดทน ผลสุดท้ายเหลือในวันปิดอบรม ๑๓๕ รูป ดิฉันต้องการกราบเรียนรายงานเป็นระยะ ๆ แม้จะมีพระและสามเณรบางรูปไม่สู้ตั้งใจปฏิบัติ หลบบ้าง หลับบ้าง มีรูปหนึ่งถึงกับเลี่ยงออกมายืนหลับตรงระเบียงด้านตะวันตกใต้ร่มมะม่วง เป็นเวลานานเกือบชั่วโมง “ยืนหลับ!” หลวงพ่อท่านให้ข้อคิดอย่างสำคัญ เป็นการสอนดิฉันไปในตัวว่า “ในผู้มาปฏิบัติธรรม ๑๐๐ คน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจนเข้าถึง ธรรมได้เพียง ๑ คน หลวงพ่อก็พอใจแล้ว!” (หลวงพ่อเจ้าขาลูกเข้าใจซึ่งในคำสอนของหลวงพ่อแล้วค่ะ)

    ในการมาฝึกปฏิบัติครั้งแรกนี้ หลวงพ่อเมตตาพวกเราอย่างที่สุด แม้จะมีภารกิจรอบด้านตั้งแต่เช้ายันดึก แต่พระธรรมจาริกได้ฟังธรรมะและคำบรรยายจากหลวงพ่ออย่างเต็มอิ่ม ขาดไปเพียงวันเดียวที่หลวงพ่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อบรรยายธรรมในวันเปิดศูนย์วิปัสสนา “อาคารสิริ กรินชัย” ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปิดการฝึกอบรมพระธรรมจาริกหลายรูปเขียนตอบในแบบสอบถาม สารภาพถึงความเสียใจและเสียดายที่มิได้ตั้งใจฝึกอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันแรก แต่ทุกรูปล้วนประทับใจและซาบซึ้งในคำสอน ธรรมบรรยายของหลวงพ่ออย่างที่สุด หลายรูปปฏิญาณว่าจะต้องมาฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่ออีก และท่านก็ได้มา จริง ๆ มีรูปหนึ่งได้กลับมาปฏิบัติอีกถึง ๓ ครั้ง

    รุ่นแรกนี้นอกจากหลวงพ่อจะเมตตาแจกทั้งหนังสือธรรมะ แจกวัตถุมงคลรูปหลวงพ่อ แล้วยังกรุณาใส่ซองเป็นขวัญถุงอีกซองละ ๑๐๐ บาท เป็นอันว่าหน้าบานกันทุกรูปทุกนาม ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อได้เมตตาฝากปัจจัยไปอีก ๒๐,๐๐๐ บาทไปกับหลวงพ่อพระครูสิริชัยคุณ (เจ้าคุณอำเภอสะเมิงซึ่งเป็นหัวหน้าพระธรรมจาริกที่มาปฏิบัติ) เพื่อถวายท่านเจ้าคุณสนับสนุนโครงการศึกษาพระธรรมจาริก สาธุ สาธุ สาธุ “ยิ่งให้ ยิ่งได้ ไม่มีหมด ยิ่งหวง ยิ่งอด หมดแล้วไม่มีมา” นี่คือคำสอนของหลวงพ่อที่ดิฉันจำขึ้นใจตลอดเวลา

    รุ่นที่สอง ระหว่าง ๑๘-๒๔ มกราคม ๒๕๓๘ พระธรรมจาริก ๘๑ รูป และผู้ประสานงาน คือดิฉันและผู้ช่วย คือ อาจารย์ภิรมย์ ศรีเพชร อาจารย์ดรุณี ศรีศิลปนันท์ และข้าราชการจากกองสงเคราะห์ชาวเขา พร้อมทั้งลูกสาว ดิฉันและเพื่อนลูกสาว ซึ่งเพิ่งได้ปริญญาเอกเรียบร้อยเดินทางกลับเมืองไทย คราวนี้เป็นคนชวนลูกสาวดิฉันมาเข้าปฏิบัติอีก จึงได้โอกาสปฏิบัติธรรมพร้อมพระธรรมจาริก ครั้งนี้

    ฝ่ายพระธรรมจาริกรุ่นนี้ ๘๑ รูป ไม่ปรากฏว่าลากลับเลย อยู่ปฏิบัติครบกำหนด และมีพระธรรมจาริก ๒-๓ รูป ตั้งใจปฏิบัติอย่างมาก ถึงกับอธิษฐานจิตไม่พูดกับใครเลยนอกจากส่งอารมณ์กับพระอาจารย์ ท่านที่ “ไม่พูด” และท่านที่ตั้งใจปฏิบัติจำนวนมาก ก็ได้สัมผัสสภาวธรรม มีความก้าวหน้าไปตาม ๆ กัน แต่ก็มีบ้าง ๒-๓ รูปที่ “ทิฐิพระ” แรงมาก จนถึงกับมีคำพูดออกมาว่า “ขอให้พรมแดง เป็นเขตปลอดผู้หญิง” เรื่องที่เกิดนี้ ไม่มีใครกล้ากราบเรียนหลวงพ่อเลย แต่ปรากฏว่าวันต่อมาหลวงพ่อให้มาเชิญดิฉันขึ้นไปพบคำแรกที่เอ่ยคือ “หลวงพ่อรู้แล้ว รู้ทุกอย่าง…ไม่มีใครบอก…หลวงพ่อรู้เอง…เดินผ่านศาลาภาวนาฯ สัมผัสบรรยากาศก็รู้แล้ว…สงสารศาสตรจารย์มาก…” หลวงพ่อเจ้าขา น้ำตาลูกซึมไหลเพราะซึ้งในความเมตตาปรานีของหลวงพ่อเป็นที่สุดแล้ว…และคืนนั้นเอง หลวงพ่อก็ขึ้นเทศน์ “กัณฑ์ดับพยศ” จนซาบซึ้งตรึงใจผู้อยู่ในกรณีทุกคน ผลสุดท้ายก็ได้เห็นพระละพยศลดทิฐิ ประจักษ์แจ้งแล้วถึง “อนุสาสนียปาฏิหาริย์” ของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล “หลวงพ่อจรัญแห่งวัดอัมพวัน สิงห์บุรี”

    จาคบารมีของหลวงพ่อที่เห็นเด่นเป็นอัศจรรย์อีกครั้ง ในการฝึกกรรมฐานของพระธรรมจาริกครั้งนี้ ก็คือความปรารถนาของหลวงพ่อที่จะได้พระพุทธรูปบูชา บริจาคให้พระธรรมจาริกรูปหนึ่ง คือ พระไพศาล อาภสฺสโร แห่งอาศรมบ้านจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเขียนจดหมายมาขอพระบูชาจากพระคุณท่านจำนวนมาก เพื่อแจกแก่ชาวเขาที่จะมาเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ครอบครัว ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลานั้น ลูกศิษย์ทั้งหลายที่มากราบเยี่ยมชมพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มักจะนำพระพุทธรูปบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ๗ นิ้ว ๙ นิ้ว หรือกว่านั้น ก็มี มาถวายหลวงพ่อกันคนละองค์สององค์ หรือมากกว่านั้นโดยที่แต่ละคนก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงนำพระบูชามาถวายหลวงพ่อ รู้เพียงแต่ว่าอยากนำมาถวายหลวงพ่อเท่านั้น! ในช่วงนี้หลวงพ่อจึงได้อนุโมทนาและอวยชัยให้พรญาติโยมและศิษยานุศิษย์ที่ทยอยกันนำพระพุทธรูปบูชามาถวายพร้อมทั้งเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมจาริก ผู้เสียสละอุทิศตนทนลำบากขึ้นไปสอนชาวเขาชาวดอย ให้สาธุชนทั้งหลายที่มาฟังธรรมและมากราบนมัสการหลวงพ่อ ได้รู้จักองค์กรเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการมาศึกษา ฝึกปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดอัมพวันนี้

    ความอัศจรรย์ที่ประจักษ์ในครั้งนี้ก็คือ พระพุทธรูปบูชาที่ญาติโยมสาธุชนและศิษยานุศิษย์หลวงพ่อทยอยกันมาถวายภายใน ๗ วันนี้ รวมได้ถึง ๓๖๕ องค์! ซึ่งหลวงพ่อได้บริจาคผ่านทางโครงการพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา พร้อมกับเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ อีกมากมาย จนวัดอัมพวัน ต้องขนขึ้นไปเต็ม ๑ คันรถสิบล้อ นี่คือปาฏิหาริย์อันเกิดจากจาคบารมีของหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลโดยแท้

    รุ่นที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๘ พระธรรมจาริกและพระพี่เลี้ยง รวม๖๐ รูป พร้อมทั้งผู้ประสานงานและผู้ช่วยอีก ๓ คน คือ ดิฉันและอาจารย์ฉวีวรรณ แสงสว่าง กับ อาจารย์ภิรมย์ ศรีเพชร ได้เดินทางมาถึงวัดอัมพวันในเช้าวันที่ ๒๑ พ.ค. ๒๕๓๘ การปฏิบัติธรรมครั้งนี้ พระธรรมจาริกทั้งภิกษุและสามเณรที่เพิ่งอุปสมบทและบรรพชาได้รับการปูพื้นฐานความรู้และการฝึกวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้นมาแล้ว จากโครงการเตรียมความพร้อมฯ ณ สวนสมุนไพร สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ที่อาศรมบ้านตันลุง อ.แม่แตง เชียงใหม่ จึงได้รับคำชมเชยจากพระอาจารย์ผู้ฝึก เป็นที่น่าพอใจของพระอาจารย์ผู้ฝึกอย่างมาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลก็เมตตาให้กรรมฐานและเทศน์สอนตลอดจนให้เข้าร่วมสวดมนต์ในพระอุโบสถเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น กล่าวคือสามเณรธรรมนูญ ซึ่งเป็นรูปหนึ่งที่ตั้งใจฝึกปฏิบัติอย่างยิ่งแต่อาจยังมีสติอ่อนเมื่อสมาธิยิ่งเกิดนิมิตและฝังใจในความผิดของตน ที่แสดงอาการเหมือนล้อเลียนหลวงพ่อขณะฟังเทศน์บนศาลาใหญ่และในโบสถ์ โดยยกมือขึ้นลูกศีรษะของตนเลียนแบบหลวงพ่อ จึงเกิดอาการประหลาดต่าง ๆ และเมื่อสำนึกผิดก็ดิ้นรนจะเข้าไปขอขมาลาโทษ หลวงพ่อให้เข้าโบสถ์พร้อมพระทั้งปวงในตอนทำวัตรเย็น โดยหลวงพ่อเทศน์หลังทำวัตร และกล่าวอโหสิว่า “หลวงพ่อไม่เคยถือโทษโกรธเคืองใครเลย ให้พ่อเณรสบายใจได้ ขอให้ตั้งใจฝึกปฏิบัติต่อไป..” แม้กระนั้นก็ตาม สามเณรธรรมนูญก็ยังคงมีความรู้สึกสำนึกผิดไม่วาย ที่ได้ล้อเลียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อผู้ประเสริฐ (อาจเป็นลักษณะคล้ายอริยูปวาทกรรม : ผู้เขียน) อาการประหลาดต่าง ๆ ก็ยังไม่สงบลงไป ในที่สุด ดิฉันจึงเข้าไปกราบเรียนหลวงพ่อ พร้อมทั้งขออนุญาตให้สามเณรมาขออโหสิกรรม ขอขมาลาโทษต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อโดยตรง ที่กุฏิหลวงพ่อ

    ในค่ำคืนนั้น ดิฉันได้เห็นภาพสะเทือนใจจนเกิดความเต็มตื้นแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ท่ามกลางสายตาทุกคู่ ทั้งพระอาจารย์ คือพระครูสังฆรักษ์ชูชัย พระพี่เลี้ยง ภิกษุสามเณรที่มาเป็นเพื่อน ตลอดจนดิฉันและอาจารย์ผู้ช่วยประสานงานหลังจากสามเณรธรรมนูญกราบเบญจางคประดิษฐ์ เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพถวายและกล่าวคำขอขมาแล้ว หลวงพ่อได้พูดว่า “พ่อเณรเอ๋ย การจะเรียนจะฝึกอะไร อย่ามุ่งจับให้มั่นคั้นให้ตายจนเกินไป จะเป็นอันตราย จงทำทุกอย่างให้พอดี มัชฌิมาปฏิปทา เดินสายกลางนะพ่อเณรนะ…หลวงพ่ออโหสิให้ จะได้ไม่เป็นบาปเป็นเวรต่อไป…” คำสอน คำอโหสิกรรมของหลวงพ่อช่างไพเราะจับใจอะไรเช่นนั้น ดิฉันฟังด้วยความตื้นตัน ซาบซึ้งใจเป็นที่สุดแล้ว

    ขณะพูด หลวงพ่อก็เรียกยาลมและน้ำร้อนมาละลายในถ้วย คนยาไปก็สอนเณรไปพลาง หัวใจดิฉันหวิว ๆ ด้วยความสงสารหลวงพ่อเป็นที่สุด คร่ำครวญลึก ๆ ในอกว่า หลวงพ่อเจ้าขา หลวงพ่อเองก็กำลังไม่ค่อยสบาย แทนที่จะได้พักผ่อนให้มีเรี่ยวแรงจากภารกิจที่แสนหนักตลอดวันจนดึกดื่น แต่หลวงพ่อกลับนึกถึงแต่ผู้อื่น สู้อุตส่าห์ลงมาโปรดสามเณรผู้สำนึกผิด แม้เวลาจะฉันยาก็ยังไม่มี ต้องสอนไปละลายยาไป

    ทันใดนั้น ดิฉันยิ่งตื่นตะลึงและจับใจยิ่งขึ้น เมื่อเห็นหลวงพ่อยื่นถ้วยยานั้นให้เณรธรรมนูญ “เอ้า พ่อเณรฉันยานี่ซะ จิตใจจะได้สบาย เลิกคิดมากได้แล้ว…” และยังให้ยาเณรเก็บไว้ฉันต่อไปอีกด้วย

    ท่านผู้อ่านที่รัก…ใครก็ตามที่เห็นได้กับตาในวันนั้นย่อมต้องตื้นตันใจเช่นเดียวกับดิฉัน หลวงพ่อผู้กรำงานหนักตลอดเวลา ฉันอาหารได้ครั้งละไม่กี่ช้อน มีเวลาจำกัดพักผ่อนวันละไม่กี่ชั่วโมง ด้วยร่างอันผอมบาง ด้วยเสียงอันแผ่วนุ่มอ่อนโยม ด้วยถ้อยคำไพเราะปลอบประโลมใจ กล่าวคำอโหสิและสอนสามเณรผู้สำนึกบาป พร้อมกับละลายยาหอมยาลมแทนที่จะฉันยานั้น ดังใจเรานึก แต่ยานั้นกลับเป็นยารักษาจิตใจของสามเณร โดยมือของหลวงพ่อยื่นให้ด้วยเมตตาปราณี

    ชั่วชีวิตนี้ดิฉันจะไม่มีวันลืมภาพประทับใจนี้เลยหลวงพ่อผู้ที่ดิฉันแสนศรัทธา สุดบูชาของศิษยานุศิษย์ พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ผู้เลิศแล้วด้วยเมตตาธรรมต่อพระธรรมจาริก

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›