ก๔/๒๖ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีกับวัดอัมพวัน

สุทิน สุวรรณมาศ
อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี
ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา

 

    ในปีการศึกษา ๒๕๒๗ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้บรรจุวิชาพระพุทธศาสนาเข้าไว้ในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนตลอด ๓ ปี ในหลักสูตรกำหนดให้เรียนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรียังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแตกฉาน ตลอดจนกระทั่งแนวทางในการที่จะปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนเพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ของหลักสูตร ตลอดจนสามารถนำไปใช้ให้เกิดความสงบสุขในการดำรงชีวิตของตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างแท้จริง

    วิทยาลัยฯ ได้พิจารณาหาแนวทางในการที่จะปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อวิชาพระพุทธศาสนา จึงเสาะแสวงหาแหล่งที่ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติกรรมฐาน ได้รับคำแนะนำจากนางสาวดรุณี ญาณวัฒนาว่าที่วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความสะอาดร่มรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีห้องน้ำห้องส้วมเป็นจำนวนมาก พอที่จะรับนักศึกษาที่จะเข้ารับการอบรมและพักในวัดได้ ข้าพเจ้าและนางสาวดรุณี ญาณวัฒนา จึงได้ไปติดต่อขอคำแนะนำจากพระครูภาวนาวิสุทธิ์(พระภาวนาวิสุทธิคุณ) เจ้าอาวาส หรือที่บุคคลทั่วไปเรียกท่านว่าหลวงพ่อจรัญ ท่านได้เมตตากรุณาต่อวิทยาลัยฯ อย่างมาก โดยท่านเป็นผู้วางโครงการ เป็นวิทยากรและจัดหาวิทยากรเพิ่มเติมให้ ในปีการศึกษานี้ วิทยาลัยฯ จึงได้จัดนักศึกษาระดับปวช. ๓ ทุกชั้นทุกแผนก รวม ๒๓๐ คน มาเข้ารับการศึกษาอบรม ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. – ๒๒.๐๐ น. และพักค้างคืนที่วัดระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นเวลา ๖ วัน

    ในวันแรกที่เริ่มเข้าปฏิบัติธรรม คณะครู – อาจารย์ผู้ควบคุม มีความกังวลและหนักใจในเรื่องกิริยา มารยาท การเดิน การพูดคุย การไม่ตรงต่อเวลา การรับประทานอาหาร การอยู่ร่วมกันในที่พัก ฯลฯ ของนักศึกษาเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเข้าวันที่สองของการอบรม ทุกอย่างที่เป็นเรื่องหนักใจของครูอาจารย์ที่ควบคุมก็ผ่อนคลายลง และดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพราะด้วยความสามารถของวิทยากรประจำวัดอัมพวัน ซึ่งได้แก่ อุบาสิกายุพิน บำเรอจิต และ พันโทวิง รอดเฉย ที่ให้การอบรม และเสนอแนะว่าผู้มาปฏิบัติธรรม ต้องมีคุณลักษณะที่ดีงามอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อจรัญ ท่านมีวิธีการที่จะชี้แนะให้นักเรียนรู้ถึงความมีโชคดีที่มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วยังได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนจนถึงระดับนี้ ในขณะที่เด็กอีกหลายคนไม่มีโอกาส เนื่องจากผลบุญกรรมของแต่ละคนที่ได้สร้างไว้ เมื่อมีโชคดีอย่างนี้แล้วก็ให้เร่งกระทำความดีสะสมไว้

    จากการที่นักศึกษาได้เข้ามาปฏิบัติธรรมรุ่นนี้แล้ว ทางวิทยาลัยฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นักศึกษาได้เข้าไปปฏิบัติธรรมกับท่านที่มีความรู้อย่างแท้จริง ในสถานที่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ทำให้ได้รับผลในการศึกษาหาความรู้ และการปฏิบัติธรรมในพระธรรมคำสั่งสอนเป็นอย่างมาก วิทยาลัยฯ จึงได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติว่านักศึกษาทุกคนจะต้องได้ไปปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและจริยธรรม ที่วัดอัมพวัน อย่างน้อยคนละ ๑ ครั้ง ซึ่งทางวิทยาลัยฯ ได้จัดให้มีการอบรมนักศึกษาจนถึงปัจจุบันนี้ (ปีการศึกษา ๒๕๓๒) นางสาวประดับ มุ่งกำจัด เป็นผู้อำนวยการฯ ดำเนินการสืบต่อมา รวม ๒๒ รุ่น

    ในปีการศึกษา ๒๕๒๙ วิทยาลัยฯ ยังได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมอาชีวศึกษาเกี่ยวกัยการพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา ทั้งทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยการจัดโครงการอบรมพัฒนาจิตใจและจริยธรรม ให้กับคณะครู – อาจารย์ของวิทยาลัยฯ ในระหว่างวันที่ ๔ – ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ รวม ๔ วัน ณ วัดอัมพวัน

    ในปีการศึกษา ๒๕๓๐ วิทยาลัยในกลุ่มสถานศึกษาประเภทคหกรรมศาสตร์ พาณิชยกรรม และศิลปหัตถกรรม เขตการศึกษา ๖, ๑๒ คณะกรรมการกลุ่ม ซึ่งข้าพเจ้าในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี เป็นประธานกลุ่มฯ ได้พิจารณาเห็นควรที่จะได้มีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้กับลูกจ้างทุกประเภทของทุกวิทยาลัย โดยมอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี เป็นผู้วางโครงการและประสานงาน จึงได้จัดโครงการอบรมออกเป็น ๒ รุ่นๆ ละ ๘ วัน รุ่นแรกระหว่างวันที่ ๒๗ กันยายน ถึงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๐ รุ่นที่สองระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การปฏิบัติงานตามหน้าที่ในสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก ผลที่ได้จากการอบรมเป็นที่น่าพอใจ คือ ทุกคนมีความรับผิดชอบในหน้าที่ ขยันและเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น หลายคนสามารถละเว้นการดื่มสุราได้โดยเด็ดขาด ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อหน้าที่ราชการและชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างมาก

    ดังนั้นในปีการศึกษา ๒๕๓๒ สถานศึกษาในกลุ่มฯ ซึ่งมีนางอำนวย ศิริมาศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี เป็นประธานกลุ่มสืบมา ได้มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีเป็นผู้ประสานงานและจัดโครงการอบรมจริยธรรมให้กับบุคลากรในสถานศึกษา ๒ กลุ่ม

    กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ ลูกจ้างทุกประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ รุ่น
รุ่นที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๒ รวม ๕ วัน
รุ่นที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗ กันยายน ๒๕๓๒ รวม ๕ วัน

    กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ ครู อาจารย์ที่ทำหน้าที่หัวหน้างานฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา และฝ่ายวางแผนและพัฒนา ระหว่างวันที่ ๓ – ๗ มกราคม ๒๕๓๓ รวม ๕ วัน

    การปฏิบัติธรรมตามโครงการของคณะครู – อาจารย์ ลูกจ้างทุกประเภท และนักศึกษาต้องไปพักค้างคืน ถือศีล ๘ นุ่งขาวห่มขาว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เข้ารับการอบรมอย่างดียิ่งและพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของครู – อาจารย์ และลูกจ้างทุกประเภท ได้เสนอให้มีการอบรมเป็นประจำทุกปี

    ในปีการศึกษา ๒๕๓๓ กรมอาชีวศึกษาเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งกลุ่มสถานศึกษาใหม่ โดยรวมวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนสารพัดช่าง และศูนย์ฝึกวิชาชีพ เข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ข้าพเจ้าหวังว่าคณะกรรมการบริหารกลุ่มฯ จะได้พิจารณานำโครงการอบรมนี้บรรจุเข้าไว้ในโครงการต่อไป

สรุปการเข้าอบรมจริยธรรมของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี ณ วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

วันที่เข้าอบรม

ระยะเวลา

รายการ

อบรมภาคปฏิบัติธรรม

จำนวนผู้เข้า

รับการอบรม

ชั้น

๒๕๒๘

๑๘  – ๒๓ มี.ค.

๒๘ – ๓๐  มิ.ย.

๙  – ๑๑  ส.ค.

๒๓ – ๒๕ ส.ค.

๑๓  – ๑๕  ก.ย.

๒๗ – ๒๙  ก.ย.

๓  –  ๑๐  ต.ค.

๘  –  ๑๕  ธ.ค.

๖ วัน

๓ วัน

๓ วัน

๓ วัน

๓ วัน

๓ วัน

๘ วัน

๘ วัน

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

๒๓๐ คน

๑๒๒ คน

๑๑๑ คน

๑๔๕ คน

๘๔ คน

๑๙๗ คน

๙๒ คน

๑๓๘ คน

ปวช. ๓

ปวช. ๑

ปวช. ๑

ปวช. ๒

ปวช. ๓

ปวช. ๒,๓

ปวส. ๒

ปวช. ๓

๒๕๒๙

๑๔ – ๒๑ มี.ค.

๔ –  ๗   มิ.ย.

๔ –  ๖    ต.ค.

๗ – ๑๓  ต.ค.

๑๘ – ๒๐  ต.ค.

๑๗ – ๑๙   ธ.ค.

๘ วัน

๔ วัน

๓ วัน

๗ วัน

๓ วัน

๓ วัน

นักศึกษา

คณะครู – อาจารย์

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

๑๑๕ คน

๖๐ คน

๗๙ คน

๑๒๘ คน

๑๔๕ คน

๑๑๐ คน

ปวส. ๑, ปวท. ๑

ปวช. ๑

ปวส. ๑. ปวท. ๑

ปวช. ๑

ปวช.๑

๒๕๓๐

๑๑ – ๑๕  ก.พ.

๒๐ – ๒๔  ส.ค.

๒๙ – ๓๑  ส.ค.

๒๗ ก.ย. – ๔ ต.ค.

๑๘ – ๒๕  ต.ค.

๕ วัน

๕ วัน

๓ วัน

๘ วัน

๘ วัน

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

ลูกจ้างทุกประเภท

ลูกจ้างทุกประเภท

๑๖๗ คน

๑๑๐ คน

๑๐๖ คน

๗๘ คน

๘๘ คน

ปวช. ๑

ปวช. ๓

ปวส. ๑, ปวท. ๑

๒๕๓๑

๓  – ๙     ม.ค.

๑๕ – ๑๗   ก.ค.

๒๒ – ๒๔  ก.ค.

๗ วัน

๓ วัน

๓ วัน

นักศึกษา

นักศึกษา

นักศึกษา

๑๗๐ คน

๑๓๐ คน

๑๕๐ คน

ปวช. ๓

ปวช. ๑

ปวช. ๑, ปวส. ๑, ปวท. ๑

๒๕๓๒

๓ – ๗     ม.ค.

๒ – ๔     มิ.ย.

๒๑ – ๒๕ มิ.ย.

๑๓ – ๑๗  ก.ย.

๒๘ ธ.ค. – ๒ ม.ค. ๓๓

 

๕ วัน

๓ วัน

๕ วัน

๕ วัน

๖ วัน

 

นักศึกษา

นักศึกษา

ลูกจ้างทุกประเภท

ลูกจ้างทุกประเภท

นักศึกษา

๑๓๐ คน

      ๓๐๐ คน

๕๘ คน

๔๐ คน

๑๖๓ คน

 

ปวช. ๓

ปวช. ๑

ปวช. ๓

๒๕๓๓

๓ – ๗     ม.ค. ๓๓

 

๕ วัน

 

คณะครู-อาจารย์ เขตการศึกษา๖,๑๒

๙๒ คน

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›