๒๒/๑ กฏแห่งกรรม

พระธรรมสิงหบุราจารย์

 

    ในปัจจุบัน ความเชื่อของคนไทยในเรื่องกฏแห่งกรรม หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กำลังสั่นคลอน เราจะเห็นว่าคนหลายคนที่ประกอบกรรมชั่ว เป็นผู้ทุจริตประพฤติผิดศีลธรรม กลับมีอำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติ มีคนเคารพยกย่องนับถือ ในขณะเดียวกัน คนซึ่งอยู่ในศีลธรรมกลับเป็นคนยากจนได้รับความยากลำบาก ถูกหัวเราะเยาะและถูกกลั่นแกล้ง ทำให้คนเริ่มสงสัยในเรื่องกฏแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป จึงเห็นใจบรรดาครูทั้งหลายที่จะต้องอบรมเยาวชนให้เป็นผู้มีศีลธรรม ให้มีความเชื่อถือในเรื่องกฏแห่งกรรม เพราะเยาวชนของเรากำลังมีทิฎฐิที่ผิด

พระอรรถกถาจารย์ ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลกว่ามี ๕ อย่าง คือ
    ๑. กิเลสันตราย อันตรายที่เกิดจากกิเลส
    ๒. กัมมันตราย อันตรายที่เกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
    ๓. วิปากันตราย อันตรายที่เกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
    ๔. ทิฎฐันตราย อันตรายที่เกิดจากทิฎฐิที่ผิด
    ๕. อริยูปวาทันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยะเจ้า

    คำสอนของพระพุทธศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นคุณลักษณะพิเศษข้อหนึ่งของพระพุทธศาสนา ที่พวกเราชาวพุทธควรจะภาคภูมิใจ มีผู้จบปริญญาเอกทางวรรณคดีและวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลับออกซฟอร์ดคนหนึ่ง ได้กล่าวยกย่องพระพุทธศาสนา ว่ามีลัษณะพิเศษเหนือศาสนาเสมิติค ทั้ง ๓ (ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม) คือพระพุทธศาสนาสอนว่า ความทุกข์ในโลกเป็นกัมมิค (เป็นผลของกรรม) ไม่ใช่การแทรกแซงของพระผู้เป็นเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง บางศาสนาถือว่าชีวิตของมนุษย์เป็นไปตามที่พระผู้เป็นเจ้าจะดลบันดาล และมนุษย์จะมีความสุขก็ด้วยความภักดีและวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า บาปที่ทำไว้ก็อาจจะล้างได้ด้วยพิธีการทางศาสนา เช่น ด้วยการสารภาพต่อพระ หรือด้วยการลงอาบน้ำในแม่น้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์

    สำหรับศาสนาพุทธของเรานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมหรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น พระพุทธองค์ทรงเพียงบอกชี้ทางแห่งความดีหรือความสุขให้เท่านั้น หากเราไม่ดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้องพระพุทธองค์เพียงใด พระพุทธองค์ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้

    ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า และถ้าพระผู้เป็นเจ้าช่วยเราได้ตามที่เราขอร้องแล้ว มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร นอกจากร้องสรรเสริญคุณพระเจ้า หรือหาสิ่งของต่าง ๆ มาบูชา แล้วก็ขอสิ่งที่ตนปราถนา และถ้าบาปล้างได้ด้วยพิธีกรรม คนเราก็จะกลัวทำไมกับการทำชั่ว เพราะเมื่อทำชั่วมาแล้วก็ไปหาพระเพื่อสารภาพผิด หรือมิฉะนั้นลงอาบน้ำในแม่น้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามนี้แล้ว ผู้ประกอบกรรมชั่วแม้จะร้ายแรงเพียงใด หากได้ลงอาบน้ำแม่น้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็คงจะได้ไปสวรรค์กันหมดและบรรดาสัตว์น้ำที่เกิดในแม่น้ำนั้น เช่น ปลา ปู และเต่า ก็คงจะมีความบริสุทธิ์ไปสวรรค์ได้มากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์เหล่านี้ได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอดเวลา

ความเชื่อในเรื่องกรรม
ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่าง คือ
    ๑. กัมมสัทธา เชื่อในเรื่องกรรม เขื่อว่ากรรมมีจริง
    ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมให้ผลเสมอ
    ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน คือ เชื่อว่าผลที่เราได้รับเป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
    ๔. ตถาคนโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ ละพระมหากรุณาคุณ

    จะเห็นได้ว่าในความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม ๓ อย่าง กฏแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม พยายามศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม อาตมาอยากจะกล่าวว่า ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม หาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม ศาสนาพุทธมีประโยชน์แก่เขาเพียงใช้กรอกแบบฟอร์ม เพื่อไม่ให้ถูกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาเท่านั้นเอง

    คนที่เชื่อในเรื่องกรรมย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ คนที่เชื่อในเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่นและเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น จะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ

    คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติ และความสุขสบายให้แก่ตัวโดยไม่คำนึงว่า ทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่

    ในจูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย ปุปริปัณณาสก์ สุภมาณพ บุตรโดยเทยยพราหมณ์ ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุแต่งมนุษย์ให้เป็นไปต่าง ๆ กัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
กมฺมสฺสกา เยวสตฺตา กมฺมทายาทา กมฺมโยนิ
กมฺมพนฺธุ กมฺมปฎิสรณา กมฺมํ สตฺเต วิภชติ
ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวหรือประณีต

    พระพุทธวจนะข้างต้นนี้หมายความว่า  เมื่อเราทำกรรมใดลงไป กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะและเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้  เช่นเรากระทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรือโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราหรือไม่ก็ตาม

    การฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยคิดว่าเป็นการโยนบาปที่ทำไปให้แก่สัตว์ที่ถูกฆ่า จึงเป็นการกระทำที่โง่เขลาไร้เหตุผล และแทนที่จะเป็นการล้างบาปกลับเป็นการสร้างบาปให้เพิ่มขึ้นอีก

    สำหรับกรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม เราจะเอาเงินไปให้ผู้อื่นซื้ออาหารรับประทาน แล้วโอนความอิ่มให้แก่เรานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเราต้องการความอิ่ม เราก็ต้องรับประทานอาหารเอง

    การที่มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่าง ๆ กัน เช่นดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องมาจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีพระพรหม ไม่มีดวงดาว หรือสิ่งอื่นมาดลบันดาลให้เป็นไป และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปข้างหลังฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มุนษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตร ที่คอยให้ความอุปการะและส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความดี แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์ และความเสื่อม เหมือนกับเพื่อนชั่ว ที่มีแต่นำเราไปสูความหายนะ

    จริงอยู่ความชั่วบางอย่างที่ทำลงไป อาจจะคิดว่านำผลดีมาให้ เช่นเราลักทรัพย์ ทำให้ได้ทรัพย์มาใช้ แล้วจะว่าความชั่วให้ผลชั่วอย่างไร แต่นั่นก็ไม่ผิดอะไรกับคนกินขนมซึ่งเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็เข้าใจว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย เช่นเดียวกับการคบเพื่อนซึ่งมาในรูปของมิตรอุปการะ ในครั้งแรกเราอาจเข้าใจผิดว่าเป็นกัลยาณมิตร แต่เมื่อเพื่อนผู้นั้นหักหลังเรา หรือพาเราไปสู่ความหายนะแล้ว เราจึงได้รู้สำนึก

    ฉะนั้นผู้ใดที่ต้องการกัลยาณมิตร หรือที่พึ่งอาศัยที่ดีก็ต้องประกอบกรรมดี หากผู้ใดประกอบกรรมชั่ว ก็จะได้เพื่อนชั่วเป็นที่พึ่งอาศัย ซึ่งย่อมมีแต่จะนำผู้นั้นไปสู่ความทุกข์ และความหายนะในที่สุด

    จริงอยู่เรายังมีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งที่อาศัยอีก เช่นพระรัตนตรัย ซึ่งเราชาวพุทธก็ได้สวดมนต์ ขอยึดถือท่านเป็นที่พึ่งอยู่เสมอ แต่พระรัตนตรัยก็เพียงแต่ช่วยชี้ทางแห่งความดีให้เท่านั้น หากเราไม่ประกอบกรรมดีด้วยตัวของเราเอง เราจะไปสวดมนต์อ้อนวอนหรือบูชาท่านด้วยอามิสที่มีค่าเพียงใด ท่านก็ไม่อาจะเป็นที่พึ่งของเราได้

ความหมายและชนิดของกรรม
    คนส่วนมากเข้าใจว่ากรรมคือการกระทำ ความเข้าใจนี้ก็ไม่ผิด แต่ยังไม่เป๊นความเข้าใจที่รัดกุมและถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่นับว่าเป็นกรรม

การกระทำที่นับว่าเป็นกรรมจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ
    ๑. ผู้ทำมีเจตนา
    ๒. การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป

    ที่ว่าผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในนิพเพธิกปริยายสูตร ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้หลาย เรากล่าวว่า เจตนาเป็นกรรม

เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่าง คือ
    ๑. บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ
    ๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ
    ๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว

การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น

    ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่น คนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา หรือเอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริต ซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนากระทำแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม

    ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ ที่ว่าการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เพื่อยกเว้นการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำก็สักแต่ว่าทำ ที่เรียกว่าอัพยากฤต ไม่นับว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกกว่ากรรม แต่เรียนกว่ากิริยา

    ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป

    คนบางคนเข้าใจว่ากรรมหมายถึงสิ่งไม่ดี คู่กับเวรหรือบาป เช่นที่เรียกว่าเวรกรรม หรือบาปกรรม ตรงกันข้ามกับฝ่ายข้างดีซึ่งเรียกว่าบุญ ทั้งนี้เพราะเราได้ใช้คำว่ากรรมในความหมายที่ไม่ดี เช่นเมื่อเห็นใครต้องประสบเคราะร้ายและถูกลงโทษ เราก็พูดว่ามันเป็นเวรกรรมของเขา หรือเขาต้องรับบาปกรรมที่เขาทำไว้ แต่ความจริงคำว่ากรรมเป็นคำกลาง ๆ หมายถึงการกระทำตามที่กล่าวมาแล้ว จะมุ่งไปในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดีเราก็เรียกกว่า “กุศลกรรม” ถ้าเป็นกรรมชั่วเราก็เรียกว่า “อกุศลกรรม”

กรรมอาจจะจำแนกออกแป็นหลายประเภท หากแบ่งตามทางที่ทำก็แบ่งเป็น ๓ ซึ่งได้แก่
    ๑. กายกรรม กรรมที่ทำทางกาย
    ๒. วจีกรรม กรรมที่ทำทางวาจา และ
    ๓. มโนกรรม กรรมที่ทำทางใจ

ตามกรรมบท ๑๐ แบ่ง กายกรรม ออกเป็นฝ่ายละ ๓
    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี
    ๒. ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี

สำหรับวจีกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๔ คือ
    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
    ๒. ฝ่ายกุศล ได้แก่ การเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ

ส่วนมโนกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ ๓
    ๑. ฝ่ายอกุศล ได้แก่ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม
    ๒. ฝ่ายกุศล ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ไม่ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม

    ตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้แต่ความนึกคิดก็จัดว่าเป็นกรรมแล้ว เช่นเราคิดจะลักทรัพย์ หรือทำร้ายคนอื่น แม้จะยังไม่ลงมือทำก็ถือว่าเป็นกรรมชั่ว ซึ่งจะต้องมีผลตอบแทนแล้ว ผิดกับการลงโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำได้เตรียมการ หรือลงมือกระทำแล้วเท่านั้น ลำพังความคิดที่จะกระทำความผิดยังหามีโทษไม่ ที่กฎหมายอาญาไม่เอาโทษความคิดที่จะกระทำความผิด เพราะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ความนึกคิดของบุคคล และเห็นว่ายังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่หลักของกรรมได้ถือความคิดชั่วเป็นความผิด ก็เนื่องจากว่าแม้ว่าคนอื่นยังไม่เสียหาย ผู้คิดเองก็เสียหาย ฉะนั้นจึงต้องมีวิบากติดตามมา จะเห็นได้ว่าการสนองผลของกรรม มีขอบเขตกว้างขวางกว่าการลงโทษของกฎหมายบ้านเมืองมาก

กรรม ๑๒ ประเภท
    ในหนังสือวิสุทธิมรรค ซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ พระเถระชาวอินเดีย ได้แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท โดยแบ่งตามกาลเวลาที่ให้ผล ตามหน้าที่ และตามความแรงในการให้ผล

กรรมให้ผลตามกาลเวลา
    ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
    ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
    ๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
    ๔. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสจะให้ผลต่อไป

กรรมให้ผลตามหน้าที่
    ๕. ชนกรรม กรรมที่แต่งมาดี หรือ ชั่ว
    ๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิม หรือ ชนกกรรม แต่งดี ส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมชั่วก็แต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
    ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น หรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดี เบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่วเบียนให้ดี
    ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือ เป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทาน หรือตายไปเลย เดิมชนกรรม แต่งไว้เลวมากกลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย

กรรมให้ผลตามความหนักเบา
    ๙. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน กรรมฝ่ายชั่ว เช่น ทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดามารดา เป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้
    ๑๐. พหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนชิน ฝ่ายดี เช่น ตักบาตรทุกวันตั้งแต่เด็กจนแก่ ฝ่ายชั่วก็เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำ
    ๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือ ที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรมย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอกแม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
    ๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำด้วยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว

เหตุที่คนคิดว่าทำดีไม่ได้ดี
    มีคนบางคนที่ทำกรรมชั่วแต่กลับปรากฏว่าเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ส่วนคนบางคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็งกลับยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือคนบางคนไม่ค่อยทำงานอะไร คอยประจบสอพลอและรับใช้เจ้านาย กลับได้ดี ได้เลื่อนเงินเดือนและตำแหน่ง ส่วนคนบางคนตั้งใจทำงาน แต่ไม่ประจบเจ้านาย ไม่ไปหาเจ้านาย ไม่คอยรับใช้คุณหญิงคุณนายของเจ้านาย กลับไม่ได้ดี จึงทำให้คนคิดไปว่า กฎแห่งกรรมจะไม่จริง คำสั่งสอนที่ว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คงจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว

การที่บางคนเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี หรือทำชั่วไม่ได้ชั่ว เนื่องจากความไม่เข้าใจ ๒ ประการ
    ประการแรก ไม่เข้าใจในเรื่องการให้ผลของกรรม
    ประการสอง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า ได้ดี และ ได้ชั่ว

การให้ผลของกรรม
    การให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง

    การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลไม่คำนึงถึงว่าถูกหลักความชอบธรรมหรือไม่ เข่น นาย ก.โกงเงินหลวงหรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้า นาย ก.ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น

    กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม     กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกกว่า อุปปัชชเวทนียกรรมกรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม

    การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอหว่านเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว แต่พืชบางอย่างให้ผลช้าเป็นปี ๆ เช่นข้าวเพียง ๔-๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียนกว่าจะให้ผลก็กินเวลาถึง ๕ ปี

    การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็นอุปัตถัมภกกรรมคอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็นอุปฆาตกกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือ เช่น เศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

    คนที่ไม่เชื่อในเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม

    บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียวก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่ว และความชั่วยังไม่ให้ผล ก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดทียาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า

    มธุวามญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น ปจฺจติ คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล

    การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ

    การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือ เมื่อทำกรรมดีก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ส่วนการให้ผลทางวัตถุ เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก

คนทำดีจะให้ได้ดีทางวัตถุต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ คือ
    ๑. คติสมบัติ ทำดีก็ต้องให้ถูกสถานที่
    ๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล
    ๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกับเวลา
    ๔. ปโยคสมบัติ ทำดีต้องทำให้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ

    การที่คนทำกรรมดี และหวังผลดีในทางวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ เป็นเพราะเราไม่ทำดีตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่นเราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำความดีกับบุคคลเหล่านี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหินหรือพื้นดินแห้งแล้ว ฉะนั้นการทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะทำความดีจริง แต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล

ความหมายของคำว่า ได้ดีและได้ชั่ว
คำว่าได้ดี และ ได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน

    ในทางโลกมักจะมองเห็นการได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายถึงว่าผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนาหรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี

    ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ

    การได้ดี หมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวของเราพิ่มมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น

    ส่วนการได้ชั่ว หมายถึง การทำให้จิตใจต่ำลงเลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น

    คำว่าได้ดีจึงหมายถึง ความดี และคำว่าได้ชั่วจึงหมายถึง ได้ชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่อง ได้ดี และ ได้ชั่ว ดีขึ้น

    บุคคลที่ทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติและความสุข ในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริง ๆ คือ ทำที่จิตใจเป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภ หรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.htmlหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›