ก๒/๙ คำเทศนาของ พระครูภาวนาวิสุทธิ์ โดยย่อ

 

    คุณชำนาญ และคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ รู้จักกับท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี โดยนายเกษ ดีฤกษ์ ซึ่งเคยเป็นนายอำเภอพรหมบุรี เป็นผู้แนะนำ ท่านพระครูมาชมสวนสามพราน และติดใจความงามสะอาดมีระเบียบเรียบร้อยของสวนสามพรานมาก จึงมาดูเป็นครั้งที่ ๒ ก่อนหน้าที่คุณชำนาญ ยุวบูรณ์ จะนิมนต์ท่านมาเทศน์ให้เจ้าหน้าที่และคนงานของสวนฟังที่สวนสามพราน เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

    ท่านพระครูสรรเสริญเจ้าภาพ ในฐานะที่เป็นผู้มีความคิดริเริ่มจัดทำสวนสามพรานขึ้น และได้บริหารงานชิ้นนี้จนสำเร็จลงด้วยดี ความประทับใจในสวนสามพรานของท่านเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ทุกรูปนามที่อยากรวย อยากสวย อยากดี ความงามก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง

    ฉะนั้น เมื่อท่านได้ความคิดจากสวนสามพรานจึงนำไปพัฒนาวัดอัมพวันทำให้วัดเป็นสวนสามพรานย่อยขึ้น ความจริงความงาม ความมีระเบียบ ความสะอาด ในวัดเป็นตัวประกอบสำคัญของบรรยากาศความสงบในวัดไม่ควรจะขาดในวัดใด

    พรปีใหม่สำหรับผู้ฟังเทศน์ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกคนอยากอายุยืน อยากสวย อยากมีสุขภาพดี มีความเจริญ แต่ผู้ที่จะรับพรนี้จะต้องมีของดีรับ คือต้องเป็นคนมีความเคารพนบนอบ และต้องบูชาคน ๓ ประเภท คือ ชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ คือผู้ที่เกิดมาดีอยู่เป็นเวลานานและมีคุณสมบัติ ความเคารพแสดงออกได้ทางกาย ทางวาจาทางใจ คือมีจิตนบนอบยำเกรง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นอกจากนี้จะต้องมีความกตัญญู กตเวที รู้พระคุณและสนองพระคุณของผู้มีคุณ

    การเคารพจะต้องประกอบด้วยหลัก ๕ ประการ คือ สักการะเคารพ บูชา นับถือ และเชื่อฟัง สักการะหมายถึงจุดธูปเทียนหรือเอาใจใส่ เคารพนอกจากไหว้ คำนับ ยังหมายถึงมั่นคงต่อผู้มีคุณ ถือในคำนับถือหมายถึง ยึดเหนี่ยวหลักข้อปฏิบัติของบุคคลที่ดีไว้เป็นแบบอย่าง เช่นเอาอย่างผู้ที่ทำงานดี เรียบร้อย งานมีผลสำเร็จผ่านพ้นไปได้ด้วยดีตามความมุ่งหมาย เมื่อเรานับถือคนเช่นนี้เราก็จะนำหลักการปฏิบัติของเขามาใช้

    การเชื่อฟังหมายถึง การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีพระคุณ เราะจะได้รับพรอันประเสริฐได้นั้นต้องเป็นผู้รู้พระคุณ ผู้มีพระคุณจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท คือ คน สัตว์ ชาติภูมิ (มาตุภูมิ) เครื่องอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไม้สอย

    คนต้องพึ่งพาอาศัยกัน แม้แต่อวัยวะต่างๆในตัวคนก็ต้องทำงานด้วย เช่นเวลาหยิบต้องใช้ทั้งห้านิ้วจึงจะหยิบได้ กายกับจิตก็ต้องทำงานด้วยกัน คนทุกคนมีคุณค่า มีสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ต่างกันตรงที่บางคนมีบารมี บางคนไม่มีบารมี คือ ไม่มีความเพียร ความเพียรช่วยให้งานการสำเร็จลงได้ สัตว์ก็มีหัวใจ มีเจ้าของทำประโยชน์ให้คน บ้านเมืองของเรามีคุณต่อเรา เพราะช่วยให้เรามีการงานทำ เราจึงมีความสุข ข้าวของเครื่องใช้ก็ให้ความสะดวกสบาย ถ้าเสียก็ไม่มีใช้ ทั้งหมดนี้นับว่ามีคุณแก่เรา

    นอกจากรู้พระคุณสี่ข้อแล้ว เราจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง อย่าทำงานอย่างสักแต่ว่าทำให้เสร็จๆไป ผลงานทั้งดีและเลว ตกอยูที่ตัวเรา ฉะนั้นจะต้องทำอย่างสุดความสามารถให้คนเห็นฝีมือประโยชน์จากงานที่เราทำนั้น คือทุนของเรา ทุนมิได้หมายถึงทรัพย์อย่างเดียว หมายถึงชื่อเสียง ตลอดจนความรัก ถ้าไม่มีชื่อเสียงว่าทำงานดี ก็จะไม่มีใครเขาให้งานทำ และต้องมีความรักจึงจะไปทำงานร่วมอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสะดวกสบาย ทุนทั้งสามอย่างนี้จะต้องเป็นสร้างสมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงจะสร้างชื่อได้ต้องมีสัจจะ มีวาจาสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่

    พระพุทธเจ้าสอนให้คนขยันหมั่นเพียร บางคนชอบแต่จะพักผ่อนอย่าลืมว่ามีดยิ่งลับยิ่งคม สมองยิ่งใช้ยิ่งคล่อง ส่วนการพักนั้นยิ่งพักจะยิ่งทำให้ปัญญาทึบ คนยิ่งทำงานยิ่งจะอายุยืน งานที่ทำจะยิ่งช่วยให้สติปัญญาแตกฉาน หลักที่ควรจำคือ “ขยันเอาการ งานสะอาด ฉลาดรอบบคอบ ชอบระวัง ตั้งใจตรง ทรงศีลธรรม นำถูกทาง ปลูกสติ ดำริชอบ” ถ้าทำได้ทั้งเก้าข้อนี้จะก้าวไปสู่ความเจริญและประสบผลสำเร็จ จะได้งานได้การเป็นกำไรของชีวิต

    ความเจริญของคนมาจากการบูชาผู้มีอุปการคุณต่อตน ทำงานเหมิอนกันทั้งต่อหน้าและลับหลังนายจ้าง กิจการของสวนสามพรานจึงจะเจริญ กิจการเจริญ ผู้ทำกิจการก็จะสบายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ขอให้ทุกคนใช้เวลาดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ทำได้ดังนี้ เมื่อใดเมื่อนั้น เราก็จะได้รับพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะพละ

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›