ก๗/๑ ยุคทอง-ยุคธรรม

 

หนังสือ “กฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ” เล่ม ๗ นี้
ขออนุญาตตั้งชื่อเป็นพิเศษว่า “ฉบับยุคทอง-ยุคธรรม”
ของวัดอัมพวัน แห่งพรหมนคร

 

    ด้านงานพัฒนาคน ซึ่งเป็นยอดปณิธานของหลวงพ่อ ปี ๒๕๓๖ นี้ วัดอัมพวันซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาคน ได้ไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุด ดุจแสงจันทร์วันเพ็ญ ยากจะหาศูนย์ “พัฒนาคน” อื่นเทียบได้

    กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม จากกรุงเทพมหานคร-จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ทั้งข้าราชการฝ่ายทหาร-พลเรือน นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ สมาคมทางศาสนา ต่างหมุนเวียนเข้ามารับแสงธรรมโดยไม่ขาดสาย

    จุดสุดยอดจริง ๆ น่าจะเป็นพระนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์รุ่นละ ๔๐๐-๕๐๐ รูป มาปักกลดปฏิบัติวิปัสสนา พระครู-พระอาจารย์จากโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ แต่ละรูปมีวุฒิเป็นเปรียญตั้งแต่ระดับต้นจนถึง ๙ ประโยค รุ่นละมากกว่าร้อย มาเข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาครูของกรมการศาสนา ที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระปริยัติธรรม ตึก ๔ ชั้นที่หลวงพ่อเนรมิตขึ้นต้อนรับอย่างฉับพลัน

    ด้านศาสนาวัตถุ กุฏิ-วิหาร-โบสถ์-ศาลาการเปรียญ ก็ถึงจุดยุคทอง-ยุคธรรมดุจกัน เพียบพร้อมหมด จนอาจพูดได้ว่า ไม่มีที่ว่างในวัดอัมพวันที่ผู้มีศรัทธาจะปลูกสร้างได้อีกแล้ว มีทางเดียว ต้องมาขอร้องหลวงพ่อขอขยายหลังเล็กให้เป็นหลังใหญ่ ขอเสริมชั้นเดียวให้สูงเสียดฟ้าขึ้นมาแทน

    ด้านเกียรติคุณอันฟุ้งขจรของหลวงพ่อ ก็ฟุ้งตรลบอบอวลขึ้นถึงยุคทอง-ยุคธรรมเช่นกัน ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ ได้เพียง ๓ ปี สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริ “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา” ในพระราชวโรกาสที่ทรงเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ทรงคัดเลือกพระเถระซึ่งเป็นหลักชัยพระพุทธศาสนาจำนวนจำกัด-ใกล้เคียงกับพระชนมายุของพระองค์ เพื่อสถาปนาและเลื่อนสมณศักดิ์ ก็ปรากฏว่าหลวงพ่อวัดอัมพวันได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็น พระราชาคณะชั้น “ราช” ที่ พระราชสุทธิญาณมงคล องค์หนึ่งด้วย

– มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประสาทปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ถวายหลวงพ่อวัดอัมพวัน เป็นพิเศษ
– สภาการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ถวายปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศึกษา
– กรมศาสนา ได้อาราธนาหลวงพ่อ ให้เป็นคณะธรรมทูต ไปดูการพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๓๔ และปี ๒๕๓๖ นี้ ก็นิมนต์ให้ไปดูการพระศาสนาในยุโรป

    รวมความว่า พุทธบริษัททั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาเรือนพันเรือนหมื่น ต่างถือเครื่องสักการะบ่ายหน้ามาสู่วัดอัมพวันแห่งพรหมนคร คล้ายกับวัดพระเชตวันมหาวิหารแห่งกรุงสาวัตถี ในยุคพุทธกาล ฉันใดก็ฉันนั้น

    ผลย่อมมาจากเหตุ หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น หากจะสาวหาเหตุที่บันดาลให้วัดอัมพวันก้าวมาถึงยุดทอง-ยุคธรรมได้อย่างปาฏิหารย์ ก็จะพบคำตอบจากพระพุทธดำรัสที่ว่า

“คาเม วา ยทิวารญฺเญ นินฺเน วา ยทิวา ถเล
ยตฺถารหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิ รามเณยฺยกํ.”

ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน
พระอรหันต์ (รวมทั้งท่านที่ดำเนินเพื่อความเป็นพระอรหันต์)
อยู่ที่ใด ที่นั้นเป็นรมณียสถาน-ที่น่ารื่นรมย์ใจ
คำตอบที่สั้นที่สุดก็คือ การปฏิบัติธรรม-สำนักวิปัสสนา มีอานุภาพบันดาลให้ทั้งบ้าน ทั้งป่า ทั้งวัดอัมพวัน และวัดอารามอี่น ๆ สามารถเป็น “รมณียสถาน” “ที่ธรรมบันเทิง” ของสาธุชน ได้ทุกหนทุกแห่ง

    “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง” ศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล จึงบรรจงจัด “หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ” เล่ม ๗ นี้ขึ้น รูปร่างอ้วนท้วน น่ารักกว่าเล่มที่แล้วมา เพื่อให้สมกับเป็นฉบับ “ยุคทอง-ยุคธรรม” ขอร่วมจิตน้อมถวายต่างเครื่องสักการะแต่พระอาจารย์ที่เคารพยิ่ง เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๖ ด้วยประสงค์จะขยาย ผลให้ธรรมทานของพระอาจารย์ กึกก้อง-กว้างไกล เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก ทั้งในเมืองไทย-อาเซีย-อเมริกา และยุโรป ทุกชาติชั้นวรรณะ

    “อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทธสาวโก”

    ขอพระเดชพระคุณ “พระราชสุทธิญาณมงคล” ผู้พุทธสาวก จงรุ่งโรจน์ด้วยปัญญาบารมี สามารถดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงโดยเร็วเทอญ.

คณะผู้จัดทำ
พ.อ. (พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน
สมพร แมลงภู่
ดร.สุจิตรา รณรื่น
มันตา หอรัตนชัย
อรสา จันทร์สระแก้ว