๑๑/๑๙ “ทางโลก” กับ “ทางธรรม”: นำชีวิตเราไปคนละทางจริงหรือ?

นาวาเอก ไพโรจน์ แก่นสาร

 

    เมื่อพูดถึงผู้ถือศีลปฏิบัติธรรม ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบันมักจะพากันเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของคนที่พ้นภาระทางโลกแล้ว เช่น ผู้สูงวัยที่มีอันจะกิน แต่ไม่ค่อยมีอะไรจะทำ หรือชีวิตของข้าราชการหลังเกษียณอายุแล้วโดยที่ไม่มีงานอื่นให้ทำอีก ยิ่งถ้าเป็นคนวัยหนุ่มวัยสาวที่หันมาสนใจทางนี้ตั้งแต่ยังไม่หมดศักยภาพที่จะทำงานทางโลกด้วยแล้ว ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่จะหลุดโลกไปแล้วหรือไม่ก็ต้องผ่านพบมรสุมชีวิตอะไรบางอย่างมา จึงหันเข้าหาพุทธธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ อะไรทำนองนั้น และมักจะถูกถามทำนองว่า ทำไมจึงฝักใฝ่ธรรมะตั้งแต่อายุยังน้อย มีปัญหาชีวิตอะไรหรือ

    ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว ความเข้าใจและข้อสงสัยข้างต้นเป็นเรื่องส่อแสดงถึงการขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องเกี่ยวกับพุทธธรรม ซึ่งมีสาระประโยชน์และคุณค่ามหาศาลสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ควรที่จะได้ศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังโดยไม่รั้งรอให้ถึงวันที่คิดว่าหมดภาระทางโลกแล้ว หรือเมื่อเผชิญปัญหาชีวิตแล้วหาทางอื่นแก้ไขไม่ได้ผล เพราะความคิดดังกล่าวนับเป็นความประมาทขาดสติโดยแท้ ท่านกำลังปล่อยให้โอกาสทองของชีวิตผ่านพ้นไปทุกขณะจิตโดยไม่รู้ตัว หากท่านคิดจะเฝ้ารอวันที่ท่านคิดว่าท่านพร้อมแล้วจึงจะลงมือศึกษาปฏิบัติธรรม ท่านอาจจะไม่มีโอกาสพบวันนั้นเลยก็ได้ในชีวิตนี้ด้วยท่านอาจจะลาโลกไปก่อน หรือผลัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จนหมดความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ท่านรอคอย ถึงแม้จะมีวันนั้นสำหรับท่านที่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ท่านก็คงจะพบความจริงว่า ศักยภาพของท่านเหลือน้อยเต็มทีแล้วที่จะตักตวงคุณค่าของพุทธธรรมให้กับชีวิตตนตามที่ปรารถนา

    ทำไมผู้เขียนจึงเสนอมุมมองอย่างนี้ คำตอบก็คือเป็นผลจากประสบการณ์ที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก หลากหลายวุฒิภาวะและฐานะทางสังคม ซึ่งมีทัศนะเกี่ยวกับการประพฤติศีลปฏิบัติธรรมต่าง ๆ กันไป ผิดแผกกันได้มากมายเกินคาด ตั้งแต่ไม่เห็นคุณค่าจึงขาดความเลื่อมใส จนถึงลุ่มหลงงมงายเพราะนับถืออย่างผิดๆ สรุปโดยรวมได้ว่า มีเพียงคนส่วนน้อยจริงๆ ที่เข้าใจพุทธธรรมหรือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องถ่องแท้ แม้แต่ในหลักทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตทางโลกได้โดยตรง ที่กล้ากล่าวอย่างนี้มิได้เจตนาที่จะอวดอ้างว่าตนเองเป็นผู้รอบรู้หรือลึกซึ้งในพระธรรมคำสอนของพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง ยากที่จะเป็นเช่นนั้นได้ครับ ส่วนที่พอมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้างนั้นยังน้อยนิดเต็มที เทียบกันไม่ได้เลยกับเรื่องที่ยังเข้าไม่ถึง แต่ก็พยายามศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติเท่าที่โอกาสจะอำนวย รู้เห็นแค่ไหนก็นำมาบอกเล่าสู่กันฟัง ในเชิงของการเสนอมุมมองในบางส่วนที่มีประสบการณ์มากกว่าเจตนาที่จะถ่ายทอดคำสอนโดยตรงเพราะผู้เขียนเองตระหนักอยู่เสมอว่า ตนยังอยู่ในสภาวะที่ไกลนักสำหรับการทำหน้าที่ดังกล่าว แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งคงจะมีคุณสมบัติพอที่จะทำได้ในระดับต้นๆ ดังนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดทำใจกลาง ๆ ไว้ก่อนนะครับ ลองค่อย ๆ พิจารณาต่อไปว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อข้อคิดที่จะนำเสนอต่อไปนี้ หากจะมีส่วนช่วยให้ท่านเกิดมุมมองที่ถูกต้องชัดเจนขึ้นบ้างต่อคำว่า “ธรรมะ” ก็ขอน้อมถวายกุศลนี้เป็นเครื่องสักการะบูชาแด่คุณพระศรีรัตนตรัย รวมทั้งครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้มีส่วนให้ความรู้ความคิดที่มีประโยชน์เหล่านี้แก่ผู้เขียน แต่หากจะก่อให้เกิดผลในแง่ลบไม่ว่าต่อใคร และด้วยสาเหตุใดๆ ขอได้โปรดอภัยและอโหสิกรรมให้แก่ผู้เขียนด้วยนะครับ มิได้มีเจตนาร้ายแรงแฝงอยู่เลยจริงๆ

    คำว่า “ธรรมะ” พวกเราคงตีความต่างๆ กันไปหลายทัศนะ โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทำนองที่ว่า เป็นเรื่องลึกซี้งซับซ้อนอยู่ไกลตัวไปกันไม่ได้กับวิถีชีวิตทางโลก คำว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” ดูคล้ายจะเป็นสายธารคนละเส้นที่เกือบไม่มีวันไหลมาบรรจบกันได้ เราจึงจำเป็นต้องเลือกที่จะดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางสายใดสายหนึ่ง จะเคล้าคละปะปนกันไม่ได้ ในมุมมองของผู้เขียนแล้วไม่เห็นด้วยเลยที่เราจะคิดเช่นนั้นเพราะเชื่อว่าแท้ที่จริงแล้ว “ธรรมะ” เป็นเรื่องใกล้ตัว แยกออกจากชีวิตจิตใจเราไม่ได้เลย ไม่ว่าใครจะพอใจใช้ชีวิตในแนวทางไหนก็ตาม ด้วย “ธรรมะ” คือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แน่ละส่วนที่ลึกซึ้งซับซ้อนยากแก่การเข้าใจในเชิงของเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ย่อมมีอยู่ไม่น้อย แต่ก็นับว่าพวกเราโชคดีนักหนาที่ได้เกิดมาในห้วงแห่งพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงใช้ความเพียรนานาประการตลอดระยะเวลา ๖ ปี จึงค้นพบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น นำมาสรุปเป็นพุทธธรรมคำสอน แยกแยะหมวดหมู่ไว้อย่างเหมาะสม ง่ายต่อการศึกษาปฏิบัติหรือเลือกมาใช้ประกอบแนวทางในการดำเนินชีวิตทางโลก เสมือนตำหรับตำราอาหารหลากชนิด ที่บอกส่วนผสมและวิธีปรุงไว้อย่างละเอียดชัดเจน สุดแต่ผู้ใดจะพอใจประกอบหรือบริโภคอาหารชนิดไหน

    ในบรรดาพระธรรมคำสอนทั้งหลาย หากสังเกตให้ดี จะพบว่ามีลักษณะคล้ายกฎหมาย หรือระเบียบ-กติกา ในสังคมของชาวโลกเรานี่เอง คือมีทั้งข้อห้ามปฏิบัติ อันได้แก่ “ศีล” ต่างๆ และข้อพึงกระทำ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์เป็นไปอย่างปกติสุข มีความสงบเรียบร้อยราบรื่น รุ่งเรือง ทั้งในชีวิตส่วนตัวและสังคมโดยรวม ส่วนหลังนี้ คือ “พระธรรม” ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหมวด เช่น “อิทธิบาท ๔” หรือ ธรรมะที่นำมาซึ่งความสำเร็จในเรื่องทั้งหลายทั้งปวง อันประกอบด้วย “ฉันทะ” (ความพอใจในเรื่องที่ประสงค์นั้น) “วิริยะ” (ความเพียรพยายามที่จะบรรจุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้) “จิตตะ” (ความเอาใจจดจ่อต่อสิ่งที่มุ่งหวังและงานที่ทำ) และ “วิมังสา” (ความใคร่ครวญถึงความสมเหตุสมผล ทั้งในสิ่งที่ปรารถนาและหนทางปฏิบัติที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ) หรือธรรมะที่เรียกกันว่าเป็นหัวใจของนักปราชญ์ อันได้แก่ สุตะ (ฟัง) จิตตะ (คิด) ปุจฉา (ถาม) และ ลิขิต (เขียน) ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ อย่างคุ้นหูกันว่า “ สุ จิ ปุ ลิ”

    เมื่อพิจารณาดูด้วยหลักของเหตุและผลแล้วจะพอเห็นได้ว่า พุทธธรรมทั้งสองข้อข้างต้นนี้ เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มีความเป็นสากล ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าผู้ใดก็ตาม หากนำไปปฏิบัติโดยเคร่งครัดแล้ว ย่อมได้รับผลตามควรแก่กรณีทุกรายไป คำสอนในแง่มุมอื่นๆ ยังมีอีกมากมายนัก เช่น บิดา-มารดากับบุตร และสามีกับภรรยา ควรปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองและสุขสงบ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในคำสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงจังนั้นคงมีความรู้สึกทำนองเดียวกันว่า พระองค์ทรงมีความละเอียดถี่ถ้วนและลึกซึ้งในเรื่องทางโลกอย่างไม่น่าเชื่อ คำสอนของพระองค์แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้หลายลักษณะ แต่ละส่วนมีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะหรือจริตของแต่ละคน มิได้มุ่งในเรื่องการบรรลุ มรรค ผลนิพพาน เสมอไป เพราะนั่นคือสมบัติสูงสุดที่มนุษย์เพียงส่วนน้อยเท่านั้นจะพึงเข้าถึงได้ “มนุษย์สมบัติ” “สวรรค์สมบัติ” และ “นิพพานสมบัติ” คือบันไดสามขั้นที่เราต้องเริ่มไต่เต้าตั้งแต่ขั้นต้นก่อน เรียนลัดไม่ได้ หลวงพ่อจรัญ ฐิตะธัมโม หรือพระราชสุทธิญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน และเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี (จ. สิงห์บุรี) มักจะกล่าวกับลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า ถ้ามนุษย์สมบัติ อันได้แก่ ทาน ศีล และ ภาวนา ยังมีไม่ครบ อย่าเพิ่งคิดไกลไปถึงเรื่องสวรรค์-นิพพาน เลย ไปไม่ได้แน่ คนที่ขาด ทาน ศีล และภาวนา นั้น มักจะมีนิสัย ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉา-ริษยา หากละทิ้งนิสัยเลวเหล่านี้ไม่ได้ ชีวิตนี้สงบยากเจริญยาก ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินท่วมท้นสักปานใด ทำบุญสุนทานมากเพียงไหน ก็จะหาความสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตตนไม่ได้ มักมีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มใจอยู่เนืองๆ

    ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว เชื่อว่าธรรมะไม่ว่าในศาสนาใด หากไม่อาจเกื้อกูลให้ชีวิตทางโลกของสังคมมนุษย์ดีขึ้นได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะศึกษาปฏิบัติธรรมกันไปเพื่ออะไร คุณค่าที่แท้จริงของธรรมะคือการช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างปกติสุขเป็นเบื้องต้น ไม่ทำผิดคิดร้ายหรือเบียดเบียนกันด้วยวิธีต่างๆ โชคดีนักหนาที่เราได้เกิดมาในช่วงที่โลกมีศาสนา แถมยังอยู่ในสภาพที่สามารถศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้ ถ้าโชคร้ายไปเกิดในช่วงที่โลกไร้ศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่ามีระยะเวลายาวนานกว่าห้วงเวลาที่โลกมีศาสนาอย่างมากมายหลายพันหลายหมื่นเท่า เทียบกันไม่ได้เลย ในสภาวะดังกล่าวครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าสังคมของคนเราหาความสุขสงบได้ยากมาก มีการเข่นฆ่าเบียดเบียนกันสารพัดแบบ ความเป็นอยู่ของผู้คนคงไม่แตกต่างจากวิถีชีวิตของสัตว์เดรัจฉานเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้กระมังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสั่ง สอนไม่ให้พวกเราอยู่ในความประมาทขาดสติ ให้ใช้โอกาสทองของเราที่ได้เกิดมาในช่วงที่สามารถศึกษาปฏิบัติธรรมได้นี้ นำพาชีวิตเราให้ข้ามพ้น ห้วงแห่งความทุกข์ของสังสารวัฏไปให้ได้ ถ้ายังหลุดพ้นไม่ได้ก็ขอให้มีชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงเห็นได้ชัดเจนว่าพุทธธรรมของพระองค์นั้นมุ่งที่จะค้ำจุนสังคมมนุษย์ให้มีความเป็นปกติสุข ทั้งในระดับ “โลกียะ” (ทางโลก) และ “โลกุตระ” (เหนือโลก) ควรที่เราจะได้เร่งตักตวงกันไว้ให้เต็มที่ก่อนถึงวันลาจากภพภูมินี้ไป

    ถึงตรงนี้ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะมีผู้อ่านหลายท่านเริ่มเห็นคล้อยตามบ้างแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วคำว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” นั้น เป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันไม่ได้เลย ความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องถ่องแท้เท่านั้นที่ทำให้เราเห็นภาพผิดเพี้ยนไป จึงเกิดความเชื่อถือที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกันไปมาก จนถึงขั้นมองเห็นผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นคนอีกส่วนหนึ่งของสังคมไปเลย สื่อสารกันได้ค่อนข้างจำกัดกับชาวโลกโดยทั่วไป ที่นับว่าน่าห่วงใยอย่างยิ่งก็คือ เมื่อผู้ใหญ่เห็นผิดในเรื่องเช่นนี้เสียแล้ว ลูกหลานและบริวารที่อยู่ใกล้ตัวก็จะพลอยมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย ศาสนาทั้งหลายก็จะค่อยๆ เรียวลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับความทุกข์ยากสารพัดแบบที่พอกพูนขึ้นในสังคมมนุษย์มากขึ้นทุกที ความลุ่มหลงงมงายในวัตถุ อันเป็นผลิตผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาการได้มีส่วนครอบงำ วิถีชีวิตของคนเราให้เลวลงทุกขณะ มีการเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งแข่งเลวกันโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง อย่างมากมายหลายลักษณะ หากหามาตราการใดๆ มาสกัดกั้นหรือยับยั้งให้กระแสร้ายเช่นนี้ชะลอตัวลงไม่ได้แล้ว สักวันหนึ่งคุณภาพความเป็น “มนุษย์” (ซึ่งแปลว่าผู้มีจิตใจสูง) ก็คงจะต่ำทรามลงใกล้กับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งถือว่าอยู่ในภูมิที่ต่ำกว่าคน น่าห่วงนะครับ

    วัฏสงสาร แม้จะเป็นห้วงหรือสภาวะที่มนุษย์เราก้าวข้ามพ้นได้ยาก เวียนว่ายตายเกิดกันมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ และคงจะต้องว่ายวนกันต่อไปอีกนานแสนนานกระนั้นก็ตาม หากเรามีทัศนคติที่ถูกต้องต่อคำว่า พุทธธรรม และเร่งลงมือศึกษาปฏิบัติอย่างเต็มกำลังแล้ว ย่อมอาศัยเป็นที่พึ่งได้ตามควรแก่กรณี วิถีชีวิตที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็จะมีความสุขสงบยิ่งขึ้น ลาโลกนี้ไปก็จะมีภพภูมิใหม่ที่สูงกว่าเก่า เช่น ไปเกิดในเทวโลกและพรหมโลกทั้งนี้สุดแต่คุณภาพของจิตหรือวิญญาณแต่ละดวง หากได้รับการพัฒนาด้วยธรรมะมาก กิเลสอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็จะเหลือน้อยลง จิตย่อมมีคุณภาพสูง ชีวิตใหม่ก็จะประเสริฐกว่าเก่า ได้เข้าสังกัดในภพภูมิที่สูงตามไปด้วย

    หากจะมีผู้สงสัยว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร หรือจะช่วยให้เรามีความสุขได้อย่างไร ผู้เขียนขอน้อมอาราธนาคำสอนของหลวงพ่อจรัญฯ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าท่านลึกซึ้งในพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเล่าขานสู่กันฟังว่า การปฏิบัติธรรมคือการพัฒนาจิตให้มีทิศทาง เป็นการแสวง “บุญ” หรือ “ความสุข” มาใส่ใจของเรา ซึ่งมีระดับการสร้างจากง่ายไปหายากอยู่ ๓ ระดับ คือ “ทาน” “ศีล” และ “ภาวนา” ซึ่งมีสาระสำคัญโดยย่อดังนี้

    “ทาน” คือการให้ หรือ การเสียสละเพื่อผู้อื่นในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน เงินทอง แรงกาย แรงใจ เวลาและความคิด หรือแม้แต่การให้อภัย ถ้าเป็นการให้แก่ผู้อื่นแล้วก็นับได้ว่าเป็นทานได้ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ทำง่าย โดยเฉพาะถ้าเราเป็นผู้ไม่ขัดสนโภคทรัพย์อยู่แล้วจึงเห็นการปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไป จนเกือบจะเป็นสัญลักษณ์เดียวของการทำบุญไปแล้ว เช่น การตักบาตร ทอดกฐิน-ผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร หรือสงเคราะห์คนยากจนด้วยทรัพย์สินต่างๆ ผลที่ได้จากทานจริงๆ นั้นคือช่วยให้เราละความโลภ (ถ้าไม่ใช่การทำบุญเอาหน้า) และมีเมตตาธรรมประจำใจมากยิ่งขึ้น เชื่อกันว่าจะส่งผลให้เราเป็นผู้ที่อุดมด้วยโภคทรัพย์ต่อไป การทำบุญในระดับนี้เองที่คนไทยนิยมกันมาจนเกือบจะเหมาเอาว่า มันคือหลักปฏิบัติที่พุทธศาสนิกชนพึงยึดถือ อันอาจน้อมนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในอนาคต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะไม่ว่าเราจะทำทานมากมายสักเพียงใด ความโลภจะเหลือน้อยลงแค่ไหน ถ้าความโกรธความหลงยังมีอยู่ ชีวิตนี้ก็จะหาความสุขสงบได้ยาก อย่าฝันไกลไปถึงเรื่องสวรรค์นิพพานในภพภูมิต่อไปเลย จึงควรได้ทำบุญในระดับที่สูงขึ้นไปควบคู่กันไปด้วย คือ การรักษาศีล และการเจริญกุศลภาวนา

    “ศีล” ในความหมายที่แท้จริงแปลว่า “ปกติ” การรักษาศีลก็คือการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ในพุทธบัญญัติ เพื่อสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสภาวะปกติ จิตใจก็จะพลอยสุขสงบตามไปด้วย ง่ายหรือหยาบที่สุดก็คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ที่เราท่านต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนั้นแหละครับ ลองวิเคราะห์ดูเถิด แต่ละข้อล้วนเป็นมาตรการรักษากายวาจาให้อยู่ในสภาพปกติ คนเราจะรักษาศีลได้อย่างดีก็ต่อเมื่อมี “สติ” หรือความระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่า เรากำลังคิดกำลังพูด หรือกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อดำรงสภาพเช่นนี้ได้ โทสะจริตหรือความโกรธก็ย่อมจะเข้าครอบงำจิตใจเราได้ยากกิเลสพวกที่สอง (โทสะ) ก็จะค่อยๆ จางจากใจเราไป ช่วยให้เราเป็นคนสุขุมเยือกเย็น มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหววูบวาบไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบโดยง่ายเช่นแต่ก่อน เชื่อกันว่าอานิสงส์หรือผลที่ได้จากการรักษาศีลจะช่วยให้เรามีความสวยสดงดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อยชวนมอง กระนั้นก็ดี แม้เราจะมุ่งมั่นให้ทานและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดเพียงใด ก็ไม่อาจช่วยขจัดขัดเกลา “ความหลง” รู้ไม่จริงในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นกิเลสพวกที่สามได้มากนัก ปัจจัยที่จะบรรเทาความเขลารู้ไม่จริงหรือความหลงได้นั้น ก็คือ “ปัญญา” ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นระดับต่างๆ ตามความละเอียดลึกซึ้ง สูงสุดคือ “ภาวนามยปัญญา” หรือปัญญาที่เกิดจากการเจริญกุศลภาวนานั่นเอง

    “ภาวนา” คือการกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่เราต้องการ ไม่ให้ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปตามกระแสหรืออารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตลอดจนการปรุงแต่งไปตามความคิดที่ยากแก่การควบคุม ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่ความชอบไม่ชอบหรือนำความโลภ โกรธ หลง เข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของเราได้ การภาวนาอาจทำได้หลายวิธี เช่น การสวดมนต์ การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ ซึ่งล้วนมุ่งที่จะลดความฟุ้งซ่านแส่ส่ายของจิต ไม่ให้ไปหาความโลภ โกรธ หลง กินตามทวารต่างๆ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) การบังคับควบคุมจิตให้เชื่องลงจนถึงขั้นสงบนั้นมิใช่เรื่องง่าย ต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริงช่วยชี้นำพร่ำสอนในเบื้องต้น และอาศัยความพากเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน วิธีที่ท่านผู้รู้แนะนำให้ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปก็คือ การเจริญสติให้มีความระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังคิดกำลังทำอะไรอยู่ คือการรู้เท่าทันสภาวะปัจจุบันของตนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ในเรื่องนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุได้สอนไว้ว่า “จงอยู่เพื่อที่นี่ และเดี๋ยวนี้” หากมัวแต่คิดถึงอดีตมันก็จะดีดความรู้สึกเราให้เจ็บปวดอยู่ร่ำไป ถ้า คิดถึงอนาคตมันก็คดเคี้ยวเรื่อยไป ไม่มีใครรู้จริงว่ามันจะนำพาวิถีชีวิตเราไปทางไหนกันแน่ ทำนองเดียวกันหลวงพ่อจรัญหรือพระราชสุทธิญาณมงคล ท่านก็พร่ำสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง อนาคตไม่แน่นอน” ซึ่งมีนัยยะเดียวกัน คือสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน อดีตคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะผิดชอบชั่วดีก็เรียกกลับมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้อนาคตคือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ไม่มีใครรู้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้นแน่ จึงมิควรไปจริงจังหรือยึดมั่นถือมั่นกับมันนัก ปัจจุบันคือความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ และกำลังจะกลายเป็นอดีตต่อไป ถ้าทำปัจจุบันในวันนี้ให้ดี ก็เท่ากับเป็นการสร้างอดีตที่ดีให้กับวันพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป นอกจากนี้ หลวงพ่อวิชัย เขมมิโย เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็ได้แนะนำหลักการเจริญสติไว้สั้นๆ ง่ายต่อการจดจำนำไปปฏิบัติว่า “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว มุ่งให้เรามีสติรู้เท่าทันปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

    เมื่อสติของเรามีความเข้มแข็งมั่นคงแล้ว ก็จะสามารถบังคับควบคุมจิตให้ลดความฟุ้งซ่านแส่ส่ายค่อยๆ เชื่องลงได้ ควบคุมกันได้อย่างสมบูรณ์ถึงขั้น รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้เมื่อใด ปัญญาอันหมายถึงความรู้จริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นเอง บาปบุญคุณโทษ หรือความผิดชอบชั่วดีทั้งหลายก็จะประจักษ์แจ้งแก่ใจได้เอง โดยไม่ต้องมีใครแนะนำพร่ำสอน รู้เห็นอะไรก็จะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด เห็นผลรู้เหตุ เห็นเหตุรู้ผล เห็นคนก็รู้สภาวะจิต รู้แม้กระทั่งอดีต อนาคตและกฏแห่งกรรมของความเป็นไปต่างๆ นี่คือบุญอันสูงสุดแล้วที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ เมื่อเจริญกุศลภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาหรือเข้าถึงพุทธภาวะแล้ว โมหะจริตหรือความหลงรู้ไม่จริงในปรากฏการณ์ทั้งหลาย จะถูกแสงสว่างแห่งปัญญาขับไล่ออกไป ประดุจความมืดที่มลายไปทันทีที่เราเปิดไฟหรือจุดเทียนขึ้นฉะนั้น บุญอันสูงสุดนี้แหละที่พวกเราชาวพุทธทั้งหลายยังไม่ค่อยใส่ใจใฝ่หากัน ทั้งที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์ อยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือทำอะไรอยู่ที่ไหน ก็สามารถเจริญกุศลภาวนาให้เกิดสติได้ เพียงแต่ต้องมีศรัทธาและวิริยะเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ใครไม่เชื่อก็ลองหาโอกาสไปถามหลวงพ่อจรัญดูนะครับ ผมค่อนข้างมั่นใจว่านำคำสอนของท่านมาถ่ายทอดต่ออย่างไม่ผิดเพี้ยนในสาระสำคัญ ถ้ามีอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย ท่านจะได้เรียกผมไปสอนใหม่

    เรื่องของปัญญามีอยู่มาก เช่น ปัญญาทางโลกอันเกี่ยวเนื่องกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รวมทั้งคู่แฝดของมันคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และ ทุกข์ นั้น เราก็เรียกว่า “โลกกียะปัญญา”
ส่วนปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่อยู่เหนือกระแสความเป็นไปทางโลกก์คือ “โลกุตระปัญญา” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาให้เราก้าวพ้นห่วงแห่งความทุกข์แห่งสังสารวัฏได้ ปัญญาเช่นนี้เองที่จะช่วยขจัดอวิชชาหรือความไม่รู้ ตลอดจนอกุศลมูล ๓ หรือรากเหง้าของบาปและความชั่วทั้งหลาย อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ให้หมดไปจากชีวิตจิตใจของเรา การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นอันหวังได้ แต่มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จะมีใครสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงโลกุตระปัญญาหรือพุทธภาวะได้ในชาติเดียว คงอยู่ที่ทุนเดิมที่สั่งสมไว้จากอดีตชาติ รวมทั้งความเพียรในปัจจุบันชาตินะครับเรื่องเช่นนี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ของใครของมัน ทำแทนกันยาก ขโมยกันก็ไม่ได้

    อย่างไรก็ตาม แม้การบรรลุธรรมชั้นสูงจนถึงขั้นหลุดพ้นจากวัฏสงสารจะเป็นไปได้ยาก สำหรับปุถุชนเช่นเราท่านทั้งหลาย การศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังคุณค่าอย่างอเนกอนันต์ต่อการดำรงชีวิตตามวิสัยชาวโลกอยู่แล้ว ใครทำใครได้ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย จึงอยากจะขอยืนยันอย่างหนักแน่นไว้ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ทางโลกกับทางธรรมเป็นเรื่องที่ค้ำจุนหนุนเกื้อกันอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องช่วยนำพาชีวิตเราให้ก้าวไปสู่สภาวะที่ประเสริฐสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป การศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิหรือมีความเห็นถูกต้องนั้น ย่อมนำมาซึ่งชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขมากขึ้น ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า การเกิดเป็นคนมิใช่เรื่องง่าย ท่านว่าโอกาสที่จะเกิดเป็นอะไรๆ ที่ต่ำทรามกว่าคนมีมากกว่าถึงล้านเท่า หากไม่มีบุญกุศลดั้งเดิมที่สั่งสมไว้ตั้งแต่อดีตชาติ ก็ไม่อาจนำวิญญาณมาสรวมร่างมนุษย์ได้แน่ โชคดีของการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือความมีปัญญาความคิดที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจของตนให้มีความสุขสงบมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวาระที่จำต้องอำลาจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่สูงยิ่งขึ้น บุญพาวาสนาส่งก็คงหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ของวัฏสงสารกับเขาได้สักชาติหนึ่ง ดังนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนเราไม่ให้อยู่ในความประมาท มุ่งใช้โอกาสทองของการเป็นมนุษย์ตักตวงสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงให้กับชีวิตตนอย่างเต็มที่ หากเราขาดสติไม่ใส่ใจในความจริงเรื่องนี้ ก็อาจใช้ชีวิตมัวเมาไปกับกระแสความเป็นไปทางโลกจนลืมตัว ก่อกรรมทำเข็ญหรือสร้างบาปสร้างเวรทำความเศร้าหมองมาสู่ชีวิตจิตใจของตนอยู่เนืองๆ เมื่อถึงวันลาโลกนี้ไปก็จะปฏิสนธิในภพภูมิที่ต่ำกว่าเดิม เช่น ไปเกิดเป็น “สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และ สัตว์นรก” ซึ่งเท่ากับเสียชาติขาดทุนที่ได้เกิดมาเป็นคน เพราะการมีชีวิตอยู่ในภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์นั้น ศึกษาปฏิบัติธรรมได้ยาก โอกาสที่จะสร้างบาปสร้างกรรมชั่วก็มีมากด้วย ดังนั้น จงมาเป็นแนวร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานของพุทธธรรมกันต่อไปเถิดครับ เพื่อช่วยกันยืนยันกับเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” จะไม่มีวันนำชีวิตเราไปคนละทางอย่างแน่นอน

 

“อีกวันของชีวิต”

เหลียวมอง  ดูโลก         โดยรอบ
ชนชอบ       ปะปน        ชนชั่ว
เก่งกาจ       ขลาดเขลา  เมามัว
บ้างกลัว      บ้างกล้า      คละกัน

ทำดี         ได้ดี             มีแน่หรือ
ความซื่อ   เขาเห็น        เป็นเรื่องขัน
กลิ้งกลอก  ปลอกปลิ้น   โกงกินกัน
ดุจดั่งว่า    ชีวัน             มีวันเดียว

คิดถึง       อีกวัน      กันบ้างไหม
วันที่         จิตใจ      เริ่มห่อเหี่ยว
วันที่         ชีวิต       เริ่มซีดเซียว
แรงเรี่ยว  ลดน้อย   ถอยลง

เรื่องกิน          เรื่องกาม  และเรื่องเกียรติ
คงนึกเหยียด  ว่าใย        มัวใหลหลง
เห็นอะไร       อะไร        ให้นึกปลง
เพียงแค่ทรง  สังขาร       ยังพาลเซ็ง

ก็แล้วความ   ร่ำรวย          หรือช่วยได้
ยาอะไร        กินแล้วกลับ  กระฉับกระเฉง
ครั้งกำยำ      เคยทำท่า     ข้านักเลง
เที่ยวข่มเหง  เขาไว้ทั่ว     ไม่กลัวคน

ถึงวันนั้น       เห็นสุนัข     ยังถอยหนี
พบพระเถร    เณรชี         ชักนึกสน
คิดใฝ่หา       พุทธธรรม   นำใจตน
ล้างกมล         ที่เคยกลั้ว    ความชั่วร้าย

อันพระธรรม  อาจทำใจ       ให้ผุดผาด
แต่ไม่อาจ       ลบล้างกรรม  ที่ทำได้
ใครเคยทำ      กรรมใดไว้    ต้องใช้ไป
หมดเมื่อใด     จึงก้าวห่าง     สู่ทางดี

เรื่องทำดี     ได้ดี        นั้นมีแน่
เป็นธรรมที่  ถ่องแท้   ไม่แปรสี
ผิดแต่ผล     กรรมชั่ว  ตัวเคยมี
ยังคุกคาม    ชีวี          ไม่ครบวัน

เหลียวมอง    ดูโลก               โดยรอบ
ชนชอบ        ค่อยคลายทุกข์  สู่สุขสันต์
ชนชั่ว           กลั้วผลกรรม     ที่ตามทัน
ทนทุกข์ไป    ในอีกวัน           ของชีวิต

นรชาติ

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›