ก๖/๑ คำปรารภ

 

    ดอกมะลิ ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของบรรดาดอกไม้หอม แก่นไม้ที่หอมที่สุด ท่านว่า “แก่นจันทน์” และรากไม้ที่หอมเป็นเยี่ยม ได้แก่ “รากกฤษณา”

    แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า หอมที่เลิศล้ำกว่าบรรดาหอมทั้งหลายนั้น คือ กลิ่นหอมของสัตบุรุษ “สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ” เพราะกลิ่นหอมของสัตบุรุษหอมฟุ้งทั้งตามลมและทวนลม และหอมได้ทั่วประเทศและทั่วโลกด้วย ส่วนดอกมะลิ แก่นจันทน์ และรากกฤษณานั้น หอมได้เพียงตามลม หอมทวนลมไม่ได้ และหอมได้แค่ใกล้ ๆ เท่านั้น

    พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ ณ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เป็นสัตบุรุษองค์หนึ่งตามพระพุทธพจน์ข้างต้นนั้น หอมทั้งตามลมทั้งทวนลม จะหอมได้กว้างและไกลเพียงใดนั้น เห็นจะต้องอ้างอิงพยานหลักฐานสักเล็กน้อย

    – ในด้านอาณาจักร น่าจะเป็นจังหวัดปราจีนบุรีที่หอมหลวงพ่อมากที่สุด เพราะภายใต้การนำของ คุณประมวล รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้นำข้าราชการถึง ๒,๐๐๐ คน มาเข้ารับการพัฒนาจิต แบ่งเป็น ๑๑ รุ่น ๆ ละ ๔ วัน ๔ คืน กลิ่นหอมตลบอบอวนที่ไม่มีวันจางก็คือ ข้าราชการจำนวนมากสามารถละเลิกอบายมุขได้เด็ดขาด

    อีกหน่วยหนึ่ง ก็ได้แก่ สปช. ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดถึง ๓๑,๓๙๔ โรงเรียน มีบุคลากรถึง ๓.๔ แสนคน อาจารย์นิรันดร์ บรรดาศักดิ์ ได้นำกองทัพของท่านเข้ามาดื่มรสพระธรรม ปีละกว่า ๒,๕๐๐ คน แบ่งเป็นรุ่น ๆ รุ่นละ ๗ วัน มีหลวงพ่อเป็นผู้อุปการะ และมีคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เป็นวิทยากร และขณะนี้ก็ยังดำเนินการหมุนเวียนกันเข้ามาสู่วัดอัมพวันอย่างไม่หยุดยั้ง

    – ในด้านพุทธจักร กรมการศาสนาได้ระบุเจาะจงเอาวัดอัมพวันเป็นฐานที่ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูพระที่สอนปริยัติธรรมทั่วประเทศ โดยนิมนต์ครูแผนกบาลีมารับอบรมก่อนในปี ๒๕๓๔

    และในต้นปี ๒๕๓๕ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ส่งพระนักศึกษาจำนวน ๔๐๐ รูป มาปักกลดรับการฝึกวิปัสสนาจากหลวงพ่อเป็นเวลา ๑ สัปดาห์

    เพื่อสนองงานพระศาสนาด้านนี้ หลวงพ่อจึงต้องเร่งเนรมิตโรงเรียนฝึกหัดครูพระ ขนาด ๔ ชั้น หลังมหึมาขึ้น และเสร็จทันใช้งานในปี ๒๕๓๕ นี้

    – ในด้านต่างประเทศ หลวงพ่อยังได้จาริกไปประกาศพระพุทธศาสนาทั้งในอเมริกา และสิงคโปร์ อีกด้วย
เพื่อความกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับ “คุณลักษณะอันวิเศษของสัตบุรุษ” จึงขออัญเชิญข้อความในพระคัมภีร์มาตีแผ่ให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้ :-

ฉายมญฺญสฺส กุพฺพนฺติ ติฎฺฐญฺติ สยมาตเป
ผลานิปิ ปรสฺเสว รุกฺขา สปฺปุริสาอิว

    สร้างร่มเงาให้ความร่มเย็นแก่ผู้อื่น ทั้งคนแลหมู่สัตว์ ส่วนตนเองยินดียืนหยัดรับความร้อนของแสงแดดอย่างไม่พรั่นพรึง ถึงคราวมีลูกมีผล ก็มีเพื่อให้ผู้อื่น-สัตว์อื่นได้รับประทาน หาใช่มีเพื่อตัวเองไม่

    พฤษชาติฉันใด สัตบุรุษก็ฉันนั้น
ปฏิปทาข้างต้นนี้ เป็นจริยาวัตรของพระพุทธสาวก ผู้เดินตามรอยบาทของพระศาสดา และหลวงพ่อจรัญแห่งวัดอัมพวัน เป็นองค์หนึ่งในพระพุทธสาวกเหล่านั้น หลวงพ่อเปี่ยมไปด้วยความเสียสละ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับงานสร้างคน-พัฒนาคน โดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งกลางวันและกลางคืน หลวงพ่อจึงเป็น สัตบุรุษ-ผู้ยิ่งยง ซึ่งหอมหวนทวนลม โดยแท้

    พรพิเศษซึ่งคู่ควรกับความวิเศษของหลวงพ่อ เห็นมีแต่พรของพระบรมศาสดาเท่านั้น ที่ตรัสไว้ว่า

อปฺปมาทรโต ภิกขุ ปมาเท ภยทสฺสิวา
อภพฺโพ ปริหานาย นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก

    ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาทอยู่ทุกเมื่อ (คือเจริญสติอยู่เป็นนิจ) ภิกษุนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตกต่ำ แต่เธอเป็นผู้อยู่ใกล้พระนิพพานโดยแท้

    ในวารดิถีคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ ๑๕ สิงหาคม ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง เป็นปีที่ชนมายุของหลวงพ่อครบ ๖๔ พรรษา ปวงศิษย์ขออัญเชิญพุทธพรดังที่กล่าวอ้างมานั้น จงสถิตเสถียรอยู่แนบสนิทกับหลวงพ่อ ตลอดกาลเป็นนิจ
หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๖ จำนวนหนึ่งหมื่นเล่มนี้เป็นธรรมบรรณาการ ต่างเครื่องสักการะที่
ศิษยานุศิษย์น้อมนำมาบูชาพระคุณพระอาจารย์ ซึ่งมีพระคุณเหนือเศียรเกล้าพ้นที่จะประมาณได้
ขอรสพระธรรม อันเป็นยอดแห่งรสทั้งหลายอันเกิดจากหนังสือธรรมะเล่มนี้ จงช่วยเสริมส่งให้กลิ่นหอมของความเป็นสัตบุรุษของหลวงพ่อ พระภาวนาวิสุทธิคุณ ได้กำจรกำจายกว้าง-ไกลออกไปในหมู่สาธุชนผู้ใคร่ธรรม โดยหาประมาณมิได้เทอญ

คณะผู้จัดทำ
พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน
มันตา หอรัตนชัย
สมพร แมลงภู่
ดร.สุจิตรา รณรื่น