๑๙/๗ ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่

พระธรรมสิงหบุราจารย์

 

    คุณธรรมที่มีความสำคัญยิ่งในชีวิตของคนประการหนึ่ง คือ ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ หรือบางทีก็เรียกว่า “รู้จักที่ต่ำที่สูง” หรือ “รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ” ซึ่งมีความหมายถึงรู้จักสถานภาพที่เป็นจริงทั้งของตนและของคนทั้งหลาย นับเป็นความเหมาะสมแห่งจิตสำนึกที่สมบูรณ์ในเบื้องต้นชีวิตที่มีค่ายิ่ง คนไทยและสังคมไทยในอดีตได้ใช้ความรู้นี้เป็นทางดำเนินชีวิต ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งในการ สร้างคน รักษาตน พัฒนาคน เพื่อความเจริญ และความปลอดภัย

    อาตมาจึงมีความเห็นว่าความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่นี้ควรจะเป็น “หลักวัฒนธรรมไทย” เพราะคุณลักษณะไทยที่น่าภาคภูมิใจ คือ ความสุภาพอ่อนโยน และความกตัญญูกตเวที ที่ต่างชาติยกย่องเชิดชูกันทั่วไป ก็มาจากความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่

    ไทยได้คุณธรรมอันนี้มาจากพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าพระบรมครูของเราได้ทรงกำหนดไว้ ให้พระภิกษุสงฆ์ดำรงตนอยู่ด้วยความเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ตามสถานะที่เป็นจริง คือ ตามอันดับแห่งความเป็นพระภิกษุของแต่ละรูป เพื่อรวมกันเป็นสังฆกรรม และยั่งยืนด้วยดีมานาน

    สมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมนี้ จึงมีความสงบเรียบร้อย และมีความสามัคคีปรองดองกันดี เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใส เป็นแบบอย่างของคนและสังคมทั่วไป สังคมที่ประกอบด้วยคนที่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ย่อมเป็นสังคมที่สงบ มีความเข้มแข็ง และมั่นคงในอุดมการณ์ของตน

    คนที่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่เป็นคนมีจิตใจบริสุทธิ์ ตามสถานะที่เป็นจริง ย่อมมีความสามารถในการปฏิบัติตน ปฏิบัติการงานและหน้าที่ได้เหมาะสมกับความพอเหมาะและความถูกต้อง เป็นคนมีโอกาสในชีวิตทุกด้าน คือ

๑. จะอยู่ที่ไหนก็สบาย
๒. จะไปที่ไหนก็สะดวก
๓. จะทำอะไรก็สำเร็จ

เพราะ….

๑. เป็นที่เมตตาปรานีของผู้ใหญ่
๒. เป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร
๓. เป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย

    เป็นคนสำคัญทุกกาลเทศะ เพราะสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจคนทั้งหลายสำเร็จ เป็นคนไม่มีปัญหา และสามารถจะแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้ว

    เป็นคนที่มีความพร้อมในสังคมทั่วไป เพราะสังคมย่อมประกอบด้วยคนที่มีฐานะไม่เท่ากัน คนที่มีฐานะเท่ากันรวมกันยาก รวมกันไม่ติด

ฐานะคนที่สำคัญในสังคมก็คือ

๑. เด็ก หรือ ผู้น้อย
๒. ผู้ใหญ่

    สังคมย่อมมีลักษณะเหมือนนาฬิกาแบบเก่า คือ นาฬิกาที่มีตัวจักรเป็นกำลังเดิน นาฬิกาแบบนั้นมีจักรหลายตัว และจักรทุกตัวมีขนาดไม่เท่ากันมันจึงเดินได้

    ถ้าจักรทุกตัวเท่ากันมันจะไม่เดินแน่ เพราะมันมีกำลังเท่ากัน ไม่มีตัวไหนดึงตัวไหนดัน ตัวไหนลากตัวไหนได้ ความไม่เท่ากันของตัวจักรทั้งหลายทำให้นาฬิกาเดินได้ฉันใด ความไม่เท่ากันของคนทั้งหลายในสังคมก็ทำให้สังคมมีสภาพสังคมได้ฉะนั้น วัดหนึ่ง ๆ แม้จะมีพระหลายรูป ก็มีเจ้าอาวาสรูปเดียว ถ้ามีหลายรูปเมื่อใดก็วัดแตกเมื่อนั้น บ้านหนึ่งแม้จะมีผู้ชายหลายคนก็มีพ่อเพียงคนเดียว ถ้ามีพ่อหลายคนเมื่อใดก็บ้านแตกเหมือนกัน

เด็กที่รู้ตัวว่าเป็นเด็กย่อมอยู่กับผู้ใหญ่สบาย เพราะผู้ใหญ่รักใคร่สงสาร

ผู้ใหญ่ที่รู้ตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ก็อยู่กับเด็กได้สบาย เพราะเด็กเคารพเชื่อฟัง

เด็กที่เป็นเด็กหรือรู้ตัวว่าเป็นเด็ก ย่อมเป็นเด็กที่น่าเอ็นดู และผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเชิดชูบูชา

    สังคมไทยเราในปัจจุบันนี้มีปัญหา ไม่ว่าบ้านไม่ว่าวัดก็เพราะขาดความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ การแก้ปัญหาสังคมจะต้องเริ่มที่จุดเด็ก จุดผู้ใหญ่ โดยใครเป็นเด็กก็ยอมรับว่าเป็นเด็กบ้าง ใครเป็นผู้ใหญ่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าง ถอยหลังเข้าคลองกันเสียหน่อย มีทางที่จะราบรื่นได้ โปรดนึกถึงชีวิตสังคมแบบเก่า ๆ ดูบ้างจะพบทางสำเร็จแน่

    สิ่งที่จะโน้มน้าวเข้าสู่ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ได้ประการหนึ่ง ก็คือ ความเชื่อในเรื่องประสบการ และประสบการณ์ ว่าเป็นเรื่องจริง คือ เชื่อว่าประสบการและประสบการณ์ มีคุณค่าแก่ชีวิตแน่ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงยกย่องพระอัญญาโกณฑัญญะ ว่าเป็น เอตทัคคะในทางรัตตัญญู

    ทำนองเดียวกันที่ท่านเคยพูดว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ย่อมจะทราบดีว่าน้ำร้อนมีความสำคัญอย่างใด มีคุณค่าหรือมีโทษประการใด

    อีกประการหนึ่ง ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่นี้ยังสามารถช่วยการปกครองให้เกิดความราบรื่นได้ เมื่อผู้ใต้ปกครองหรือใต้บังคับบัญชากระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือมีความบกพร่องผิดพลาดจากประการใดจนเกิดความเสียหายขึ้น ถ้าผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา จะคิดว่าเขายังเป็นเด็กเขาคงจะไม่มีความคิดกว้างขวางลึกซึ้งรอบคอบเหมือนเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็จะสามารถคลี่คลายความไม่พึงพอใจของตนเองได้ พอจะพบทางของความราบรื่นต่อไป หรือแม้ผู้น้อยจะจงใจกระทำความผิดพลาดเช่นนั้น ถ้าจะคิดถึงเรื่องสภาพจิตของผู้น้อย โดยคิดว่าคนทำผิดเหมือนคนเดินทางผิด ควรได้รับความสงสารเห็นใจ ก็จะพบทางแห่งความราบรื่นได้ เช่นเดียวกัน

    ในทำนองเดียวกัน ถ้าผู้ใหญ่ทำอะไรที่ผู้น้อยเข้าใจว่าไม่เหมาะสม ผู้น้อยคิดว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ อาจจะมีเหตุผลที่สมควรจะทำเช่นนั้นก็เป็นได้ ก็คงจะมีทางนำไปสู่ความราบรื่นได้

    เพราะทั้งผู้น้อยทั้งผู้ใหญ่ ถ้ายอมรับความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ของตน และของอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อใด ความคลี่คลายจากทางร้ายก็จะเกิดขึ้น นำไปสู่ความให้อภัยในระหว่างกันถ้าไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงต่อกันโดยลำดับ ไม่รู้จักสิ้นสุด

    ทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อยได้ด้วยความรู้จักผู้ใหญ่แน่นอนที่สุด

    อย่างไรก็ดี ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการนำของ

ผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเป็นใหญ่ คือ

ผู้ใหญ่ที่เห็นใจผู้น้อย

ผู้ใหญ่ที่ยอมเสียเปรียบผู้น้อย

ผู้ใหญ่ที่มุ่งหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ของผู้น้อย

ผู้ใหญ่ที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ผู้ใหญ่ที่ยอมรับความเห็นของผู้น้อยบ้าง

ผู้ใหญ่ที่ไม่มัวเมาในลาภยศ ไม่บ้าอำนาจบาตรใหญ่

ผู้ใหญ่ที่ยอมรับว่าตนคนเดียวทำอะไรไม่ได้ถ้าผู้น้อยไม่ให้ความร่วมมือ

    ผู้ใหญ่ที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมคือ ผู้ใหญ่ที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากที่กล่าวมา ไม่สามารถจะทำให้เกิดความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ มีแต่จะสร้างความวุ่นวายให้เกิดยิ่งขึ้นโดยลำดับ

    ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ เป็นนโยบายหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาของคนและสังคม เป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าของไทย

    ท่านผู้นำในฝ่ายพระพุทธศาสนาก็ดี ในฝ่ายการบริหารบ้านเมืองก็ดี โปรดระลึกว่าการฟื้นฟูและการรักษา เรื่องการรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่เป็นการดำรงพระพุทธศาสนาและสังคมไทย ที่มีความหมายประการสำคัญประการหนึ่ง

    บัดนี้เรามาสู่ท้องทะเลใหญ่ ไม่มีอะไรเป็นที่หลบคลื่นลมได้ก็โปรดถอยหลังเข้าคลองบ้าง อาจจะอยู่รอดต่อไปได้

    อาตมาเชื่อมั่นว่าถ้ายังมีความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่อยู่ครบได้ตราบใด สังคมไทยก็ยังคงอยู่อย่างมีความหมายอยู่ตราบนั้น

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›