๑๕/๒๗ บรรยายธรรมแก่คณะมหามกุฎราชวิทยาลัย

พระราชสุทธิญาณมงคล
ณ หอประชุมภาวนา – กรศรีทิพา
๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

 

    ท่านนิสิตนักศึกษามหาบัณฑิต มหามกุฏราชวิทยาลัย วันนี้ผมจะพูดถึงบทบาทของพระสงฆ์กับสังคมไทยเรื่องกรรมฐานแก้ปัญหาชีวิต ก่อนที่จะพูดถึงว่ากรรมฐานจะพัฒนาสังคมได้อย่างไรนั้น ผมมีความเห็นโดยทั่วไปหลายประการเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ดังนี้
กิจกรรมของพระสงฆ์ โดยย่อมี ๔ ประการ
๑. ศึกษาแสวงหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
๒. ละความไม่ดีไม่งามทั้งหมด
๓. ทำให้แจ้งถึงจิตใจ
๔. พัฒนาทำความเจริญทั้งรูปธรรมและนามธรรม

    กิจกรรมของวัด มี ๕ ประการ ตามหลักเหตุผลดังนี้
๑. เป็นที่อาศัยพำนักของภิกษุสามเณร
๒. เป็นที่บวชเรียนของลูกหลานชาวบ้าน
๓. เป็นที่บำเพ็ญบุญกุศลของชาวบ้าน
๔. เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน
๕. เป็นศูนย์กลางกิจกรรมของสังคมและประชาชน

    โดยวัดต้องจัดให้มีสิ่งเหล่านี้
๑. การปกครองวัดที่มีระเบียบรัดกุม ปกครองบุคคลที่อาศัยอยู่ในวัดให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อย ให้พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
๒. บริเวณสะอาดร่มรื่น ทั้งที่กินสะอาด ที่ถ่ายสะดวก จัดบริเวณอาคารเสนาสนะให้สะอาดเรียบร้อยและร่มรื่น
๓. กิจกรรมอำนวยประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชน

    จุดสำคัญเจ้าอาวาสหรือผู้ปกครองวัดต้องสนใจดูแล มี ๘ ประการ คือ
๑. สงฆ์คือพระในวัด
๒. สมณะธรรม คือ ทำกิจวัตร ลงอุโบสถ บิณฑบาต สวดมนต์ไหว้พระ กวาดอาวาสลานเจดีย์ รักษาผ้าครอง อยู่ปริวาสกรรม ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์
๓. เสนาสนะ คือที่อยู่อาศัย
๔. สวัสดิการ คือ ปัจจัยอำนวยความผาสุกแก่ประชาชน
๕. สมบัติวัด คือผลประโยชน์รายได้
๖. สัปบุรุษ คือ ชาวบ้านผู้บำรุงวัด
๗. สังฆาธิการ คือ ประสานงานกับเจ้าคณะ
๘. สาธารณะสงเคราะห์ คือการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน

    พระสงฆ์ช่วยเหลือสังคมด้านใดอย่างไร นั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมของสงฆ์ในด้านนั้น ๆคือ
๑. ศีลธรรมวัฒนธรรม
๒. สุขภาพอนามัย
๓. สัมมาอาชีพ เพื่อให้เขาประกอบอาชีพการงานโดยสุจริตธรรม พระสงฆ์มีทางช่วยได้ โดยไม่ผิดสมณวิสัย
๔. สันติสุข ให้เขาอยู่ด้วยความสุขสบาย ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล รักกันเหมือนญาติพี่น้องทางสายธรรม เรียกว่าญาติในพระศาสนา พระสงฆ์ทำประโยชน์ได้อย่างดีในข้อนี้
๕. การศึกษาสงเคราะห์ ที่ผมทำมาแล้วรู้สึกได้ผลดี เช่น ช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเรียนหนังสือ ช่วยพระสงฆ์ศึกษาต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ช่วยสงเคราะห์ได้ทั้งๆที่เป็นพระสงฆ์ไม่มีปัจจัย แต่การให้นั้น ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด หมดไม่มา เราไม่หวง เราไม่อด หมดก็มาเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าของเรานั้นรวยที่สุดในโลก รวยด้วยเมตตา
๖. สาธารณะสงเคราะห์ คือช่วยเหลือประชาชนและสังคม ช่วยปัตตานุโมทนามัย ช่วยรักสามัคคี ปลุกคนให้ตื่นเสกคนให้เป็นงาน ช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตให้ประชาชน
๗. กตัญญูกตเวทิตาธรรม
๘. สามัคคีธรรม คนที่ขาดความสามัคคีจะไม่มีวินัยคนเราต้องแสวงหาวิชาและสร้างความรู้คู่กับความดี ถ้ามีความรู้ขาดความดี เหมือนท่านมีบ้านไม่มีบันได บ้านสวยหรูน่าทัศนาดูแต่ไม่มีบันได

    ประชาชนหวังความช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์สิ่งต่อไปนี้
๑. ประชาชนต้องการตัวอย่างที่ดีงาม และผู้นำทางคุณธรรม โดยเฉพาะความเคร่งครัดทางวินัยของพระสงฆ์ และความเป็นผู้สันโดษ มักน้อย
๒. ประชาชนต้องการวัดเป็นที่พึ่งพักพิงทางจิตใจของผู้มีทุกข์ ต้องการเห็นวัดเป็นที่สงบ เยือกเย็นสะอาดร่มรื่น มีระเบียบเรียบร้อย
๓. ประชาชนต้องการเห็นพระภิกษุเข้าไปหาประชาชน ปลอบขวัญให้กำลังใจ แนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิต บิณฑบาตโปรดสัตว์ ถ้าแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ เขาก็มีศรัทธา ไม่ต้องใช้ปัจจัย ๔ ไม่ต้องใช้เงิน
๔. ประชาชนต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนพัฒนาชนบท วัดเป็นอุทยานการศึกษา วัดเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ วัดให้ความร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการรวมพลังแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

    ถ้าเป็นไปได้วัดควรจัดลาน ๔ ลาน นี้คือ
๑. ลานวัด จัดให้ร่มรื่น
๒. ลานใจ ฝึกให้นั่งกรรมฐาน
๓. ลานกีฬา ให้เด็กเข้าวัดเยอะ ๆมาเล่นกีฬา
๔. ลานดนตรี บางคนบอกพระฟังดนตรีเป็นอาบัติเป็นอาบัติอย่างไร โขนละครก็เล่นในวัด พระขึ้นธรรมาสน์ก็บรรเลงสาธุการ ทุกคนพนมมือ จุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระฉันก็ใช้เพลงรับพระ เขาเล่นกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เล่นในวัดเพราะลานดนตรีอยู่วัด ถ้าพระไปร้องรำทำเพลงเสียเองนั่นแหละถึงจะเป็นอาบัติ
๕. ประชาชนต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านต่างๆ การศึกษาทุกรูปแบบ ทั้งทางโลกและทางธรรม

    หากไม่พัฒนาพระ ดังกล่าวมาแล้ว อาจเกิดภัยแก่พระภิกษุ ซึ่งจะต้องหาทางป้องกันแก้ไขสืบไปในเรื่องเหล่านี้
๑. ความเสื่อมศรัทธาของประชาชน หากพระปฏิบัติตนไม่สมควร เช่น เวลาเขาใส่บาตรก็ยถาสัพพีกลางถนนเลยไม่เลือกที่เลือกทาง รถจะชนเอาทั้งพระ ทั้งฆราวาส ต้องช่วยกันแก้ไข
๒. ความไม่ต้องการของประชาชน ประชาชนเบื่อหน่ายการเรี่ยไร กฐินตกค้างเยอะ ความจริงผ้าผืนเดียวก็เป็นกฐินได้ ทำให้ต้องมีเงินเป็นล้านถึงจะทอดได้ กฐินจึงต้องตกค้าง
๓. ความพยายามทำลายของประชาชน ประชาชนจับผิดพระ ไม่ได้ตั้งใจมาเป็นอุบาสกอุบาสิกาเลย มาจับผิดพระวัดโน้นพระวัดนี้ แล้วก็ลงหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เขาก็ขอบลงข่าวร้ายฟรี ข่าวดีเสียเงิน พระดี ๆไม่ค่อยลง เวลามีพระปลอมลงข่าวหน้าใหญ่เลย เราต้องช่วยกันแก้ไข เช่นกัน

    วิธีแก้ภัยเหล่านี้ คือ
๑. คณะสงฆ์ทำตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
๒. ให้พระภิกษุสามเณรวางตนเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนให้ได้
๓. ให้ศาสนาสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ในด้านปกครองตนของประชาชนให้ได้ กรรมฐานแก้ปัญหาได้จริงๆ พัฒนาสังคมได้ด้วย
กรรมฐานทำให้ระลึกเหตุการณ์ของชีวิตได้
กรรมฐานช่วยให้รู้กฎแห่งกรรมจากการกระทำของตน
กรรมฐานแก้ปัญหาได้ พัฒนาสังคมได้ดี

    ประชาชนเยอะแยะเราช่วยเขาได้ เขาจึงมาหา เราช่วยเขามาก เขาจะรักเรามาก เราช่วยเขาน้อย เขาจะรักเราน้อย เราแสดงพฤติกรรมออกให้เขาเห็นให้ถูกต้อง ถ้ามีกรรมฐาน ท่านจะมีเมตตา ปรานี อารี เอื้อเฟื้อ ขาดเหลือคอยดูกัน เจรจาไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ ถ้ามีกรรมฐานท่านจะเข้าใจจิตใจผู้อื่น จะมีปัญญาแก้ไขปัญหาเรียกว่ามีปัญญาในตัว มีความรู้คู่ความดี ท่านมีปัญญา ท่านจะแก้ปัญหาสมปรารถนา

    ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตเหมือนกัน จึงให้คติว่า
๑. รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม รู้อย่างเดียวไม่รู้ทุกอย่างเข้าสังคมลำบาก เขารู้อย่างไรเราต้องรู้กับเขา เอากับเขาลองคิดดูว่า “เรามีเสื้อสิบตัว กับเสื้อตัวเดียวอย่างไหนดีกว่า”
๒. รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา
๓. รู้เอาตัวรอดเป็นยอดดี

    และต้องถือเอา ๓ ดี นี้เป็นสรณะด้วยคือ
๑. ดีที่มีคนสนใจเรา
๒. ดีที่มีคนปรารถนาดีต่อเรา ไปไหนมีแต่คนเมตตาเรา
๓. ดีที่เราละความชั่วได้ ละความชั่วไม่ได้ ดีไม่ได้

    นี่คือกรรมฐาน ถ้าปฏิบัติแล้วมาเลี้ยงปริยัติได้ ถ้าไม่ปฏิบัติมีแต่ปริยัติไปไม่รอด แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง ผมรู้จักเจ้าคณะอำเภอภาคใต้ เป็นเปรียญเจ็ดประโยค ฝรั่งเป็นด๊อกเตอร์มาบวช บวชแล้วมาขอเรียนปฏิบัติกรรมฐาน แต่เจ้าคณะอำเภอเปรียญเจ็ดประโยคองค์นี้สอนไม่ได้ บอกให้เรียนบาลี เรียนธัมมะ ฝรั่งว่าอย่างไรครับ บอกเรียนมาแล้ว พระไตรปิฏกภาษาอังกฤษอ่านจบแล้ว ขอให้ท่านสอนกรรมฐานข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามาบวชกับท่าน ต้องการจะให้สอนกรรมฐาน ไม่ต้องการเรียนปริยัติเพราะจบมาแล้ว เจ้าคณะอำเภอสอนไม่ได้ เพราะท่านไม่เคยสนใจกรรมฐาน ฝรั่งบอกว่า รู้อย่างนี้ผมไม่มาบวชประเทศไทย ไปบวชศรีลังกาดีกว่า ไปบวชพม่าดีกว่า เขามีปฏิบัติ แต่ประเทศไทยคิดไม่ถึงเลยว่าไม่มีปฏิบัติ อันนี้ฝากไว้ด้วยนะครับ ขอให้เห็นความสำคัญของกรรมฐาน
สุดท้ายนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยบุญกุศลทั้งหลาย โปรดประสาทพรท่านรองอธิการและบรรดาคณาจารย์ทุกท่าน ตลอดกระทั่งนิสิตนักศึกษาที่อนาคตจะเป็นใหญ่เป็นโตด้วยวิชาการ หลักฐานงานกิจกรรมของคณะสงฆ์ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะเราเป็นภิกษุมีแต่ช่วยเหลือประชาชน สอนให้เขาเป็นคนดี สอนให้เขาพ้นทุกข์ถึงบรมสุขโดยทั่วหน้ากัน ขออำนาจบุญกุศลนี้ประสาทพรให้แก่ทุกท่านที่มาแล้วก็ดี ที่มิได้มาก็ตาม กระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมปัญญาจารย์ที่เป็นอธิการบดี ขอให้ท่านจงเจริญรุ่งเรืองในธรรมสัมมาปฏิบัติในหน้าที่ และ ขอพระเดชพระคุณทุกรูปที่มา ณ บัดนี้ จงเจริญไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดจงสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูป ทุกนามโดยทั่วหน้ากัน ณ โอกาสบัดนี้เทอญ…

 

คณะผู้จัดทำ http://www.jarun.org/contact-webmaster.html
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ บรรพบุรุษ บิดา มารดา ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรทุกภพ ทุกชาติ

กลับหน้าหลัก ›